ข่าว

'ผู้จัดการกสศ.' ยันครม.เห็นชอบ แผนใช้งบ 7,000 ล้าน 'ลดความเหลื่อมล้ำ'

ผู้จัดการกสศ. ยันครม. เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 7.094 ล้านบาท ไม่มีทบทวนหรือตีกลับ เพียงแต่ เสนอแนะให้ปรับปรุงวิธีการของบประมาณ ช่วยเด็กสร้างความเสมอภาค รุดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผู้จัดการ กสศ. เปิดเผยว่า กสศ. ได้รับเอกสารยืนยันมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

 

“การเสนอแผนการใช้เงินของ กสศ. ในครั้งนี้ เป็นไปตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งให้หน่วยรับงบประมาณต้องปรับปรุงคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่การเสนอทบทวนเนื่องจากถูกตีกลับแต่อย่างใด ”

 

\'ผู้จัดการกสศ.\' ยันครม.เห็นชอบ แผนใช้งบ 7,000 ล้าน \'ลดความเหลื่อมล้ำ\'

 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า สำหรับแผนการใช้เงินที่ ครม. เห็นชอบ ประกอบไปด้วย 9 แผนงาน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และแผนกลยุทธ์ กสศ. 2565-2567 ที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาไปตามขั้นตอนและปฏิทินการจัดทำงบประมาณ 2567

 

สำหรับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่เห็นชอบหลักการการปรับอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นการจัดสรรให้นักเรียนยากจนพิเศษใน 6 สังกัด (สพฐ., อปท., ตชด., พ.ศ., กทม. และ สช. (โรงเรียนเอกชนการกุศล) จากอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อปี ปรับเป็น 4,200 บาทต่อคนต่อปี โดยเป็นการปรับเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดต่อเนื่อง 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 จนเต็มตามอัตราในปีการศึกษา 2569 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

 

“สำหรับจุดเน้นของการปรับอัตรา คือ ส่วนรายการค่าอาหารเช้า ซึ่งปัจจุบันไม่มีการจัดสรรเงินอุดหนุนในรายการนี้ผ่านหน่วยงานอื่น เนื่องจากจากผลการสำรวจของ กสศ. พบว่านักเรียนกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่สมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 3-14 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตที่จะส่งผลไปตลอดชีวิต นอกจากนั้นจากผลงานวิจัยในระดับนานาชาติล้วนชี้ตรงกันว่าการสนับสนุนอาหารเช้าให้แก่นักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ ลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา”

 

 

ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของ กสศ. และหน่วยงานภาคีในการการลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อผลักดันให้เด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถพาครอบครัวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จในช่วงชีวิตของน้อง ๆ และได้โอกาสเป็นกำลังสำคัญในการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน

 

 

ทั้งนี้ กสศ. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการใช้เงินในปีงบประมาณ 2567 นี้ เพื่อป้องกันการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง 

 

 

โดยหนึ่งในข้อสรุปสำคัญจากเวทีรับฟังความคิดเห็นคือ กุญแจสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน คือการบูรณาการทำงานและทรัพยากรจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเอาเด็กเยาวชนเป็นตัวตั้ง การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจึงอาจเรียนได้ว่าเป็นการทำงานแบบ “หนุนเสริม” เพราะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำสำหรับเด็ก 1 คนแล้ว ครู และสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีทรัพยากรและความรู้ประสบการณ์จากหลายหน่วยงานในการจัดการกับต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากมายหลายมิติ เช่น ด้านสุขภาพ ครอบครัว สังคม และมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน 

 

\'ผู้จัดการกสศ.\' ยันครม.เห็นชอบ แผนใช้งบ 7,000 ล้าน \'ลดความเหลื่อมล้ำ\'

 

อย่างไรก็ดี กสศ. ขอน้อมรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้การทำงานของ กสศ. และหน่วยงานภาคีให้ดียิ่งขึ้นในปีงบประมาณ 2567

 

ข่าวยอดนิยม