‘นพ.อดิศักดิ์’ ชี้เด็ก14 'กราดยิง' ที่ 'สยามพารากอน’ มาจาก 2 ปัจจัยนี้
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว ชี้เด็ก14 กราดยิง ที่ห้าง 'สยามพารากอน’ มาจาก 2 ปัจจัยนี้ พร้อมเรียกร้องรัฐจัดระเบียบ การเข้าถึงสื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันการหล่อหลอม พฤติกรรมการใช้ความรุนแรง
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว หรือนักวิชาการด้านเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.)เปิดเผย ถึงกรณีเหตุ กราดยิงในห้าง “สยามพารากอน” ว่าครั้งนี้ผู้ก่อเหตุมีอายุน้อยมาก เพียงแค่ 14 ปี ปัจจัยสาเหตุของพฤติกรรมความรุนแรง อาจจะมาได้จาก 2 อย่าง คือ
1.ความผิดปกติทางจิตประสาท จากความไม่สมดุลของสารสื่อสมอง ที่เป็นมาตั้งแต่แรก
2.และอีกด้านหนึ่งจากปัจจัยที่เกิดภายหลัง คือการเลี้ยงดู โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งต้องไปดูว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ก่อเหตุเป็นแบบนี้ มาจากความเปราะบางที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยใด
แต่สิ่งที่สำคัญคือ หากเป็นความเปราะบางที่เกิดจากการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถที่จะโยนว่าเป็นความผิดของผู้ปกครองได้เพียงฝ่ายเดียว
เพราะปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมทางสังคม มีตัวกระตุ้นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกม อินเตอร์เน็ต สื่อต่างๆที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งในประเทศไทย ยังไม่ได้มีการจัดทำเรตติ้งความรุนแรงของเกมที่เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย ว่าห้ามเด็กเล่นหรือเข้าถึง
ส่วนกรณีที่มีการค้นบ้าน แล้วพบปืนรวมถึงเครื่องกระสุนต่างๆ ต้องไม่ลืมว่าเด็กไม่สามารถที่จะซื้อของเหล่านี้ได้เองตามท้องตลาด และเด็กโดยทั่วไป ก็ไม่มีใครชอบของแบบนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่าเป็นการปลูกฝัง หล่อหลอมจินตนาการ จนทำให้เด็กมีทัศนคติชื่นชอบ ซึ่งล้วนแต่มาจากการที่เด็กสามารถเข้าถึงสื่อ เข้าถึงข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตได้ง่าย โดยที่ไม่ได้มีการควบคุม
นอกเหนือจากผู้ปกครองที่ต้องใส่ใจดูแลบุตรหลาน สังเกตพฤติกรรมแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องมีส่วนร่วมกับการรับผิดชอบ และวางแนวทางในการป้องกันดูแลการเข้าถึงสื่อของเด็กด้วยเช่นกัน เพราะไม่อย่างนั้น ก็จะเปรียบเสมือนการหล่อหลอมเด็ก ให้กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอแค่วันจะก่อเหตุ
แม้ปัจจุบัน ประเทศไทย มีการออก พ.ร.บ.ปฐมวัย เน้นการพัฒนาการในทิศทางที่ถูกวิธี แต่ก็เป็นกฎหมายที่เหมือนกฎหมายล้อเล่น มีการตั้งคณะกรรมการปฐมวัยระดับชาติ ระดับจังหวัด แต่การปฏิบัติจริงๆ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้นควรนำเหตุการณ์ครั้งนี้ มาเป็นบทเรียน ที่สังคมทุกฝ่ายต้องหันมาทบทวนร่วมกัน