ข่าว

จากรัฐมนตรี ‘คุณหนู’ สู่มือ ‘รมว.ตำรวจ’ การศึกษาไทยจะไปทางไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การศึกษาไทยจะไปทางไหน ภายใต้ร่มเงา ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ‘รมว.ตำรวจ’ รับไม้ต่อจากรัฐมนตรี ‘คุณหนู’ ดูแลหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬาร จะ'กระจายอำนาจ’ ก็ไม่สำเร็จ และจะ ‘รวบอำนาจ’ กลับมาก็ไม่ทัน รัฐมนตรีใหม่จะเข้าไป ‘ยุ่มย่าม’ กับโครงสร้างเดิมไม่ได้เลย?

ที่สุดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็ได้รัฐมนตรีคนใหม่หมาด ๆ จากพรรคภูมิใจไทย อย่าง “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” มากุมบังเหียนคุมกระทรวงที่ได้งบสูงสุด และยังเป็นกระทรวง ที่จะชี้ทิศทางของระบบการศึกษาไทยอีกด้วย

 

 

เรื่องนี้ทำให้คนไทยทุกคนที่ช่วงหนึ่งของชีวิต ต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงให้ “นายตำรวจ” มาคุมกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งๆ ที่หากมองให้ลึกๆ แล้ว พรรคภูมิใจไทย มีคนที่รู้หรืออยู่แวดวงการศึกษาอยู่หลายคน แม้ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง คำถามที่หลายคนสงสัยว่าจะทำได้หรือไม่นั้น คงต้องให้เวลากับรัฐมนตรีที่เคยรับราชการตำรวจ ได้พิสูจน์ตัวเอง

 

ครูอุ้ม หรือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และรัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย ในวันถวายสัตย์ฯ 5 ก.ย.2566

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณคิดเป็น 3.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท

 

 

หากมองจากงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการดูจะเป็นกระทรวงเกรดเอ แต่ในข้อเท็จจริง กว่า 62% ของงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 2 แสนล้านบาท จะถูกใช้ไปกับงบประมาณบุคลากร 

 

 

นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของ ‘งบอุดหนุน’เพื่อสนับสนุนในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกเป็นก้อนใหญ่ คงเหลือ ‘งบลงทุน’ ราว 5% เท่านั้น​ ขณะเดียวกัน งบลงทุนยังเป็นการลงทุนในแง่สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ประเภทอาคาร ครุภัณฑ์ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อวางโครงสร้างทางการศึกษาระยะยาว

 

ที่ีทำการ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีระบบและโครงสร้างอันสลับซับซ้อน เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น ๆ มีปลัดกระทรวงคนเดียว  แต่กระทรวงศึกษาฯ มีข้าราชการเทียบเท่า ซี11 ถึง 5 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา 

 

 

ศธ.เป็นหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬาร จะ ‘กระจายอำนาจ’ ก็ไม่สำเร็จ และจะ ‘รวบอำนาจ’กลับมาก็ไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีสถานะเกรดซี เพราะรัฐมนตรี จะเข้าไป“ยุ่มย่าม”กับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วไม่ได้เลย

 

 

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง อดีตรมว.ศธ. และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรมช.ศธ. ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ย้อนอดีต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 “ครูเหน่ง”น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศ 12 นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย

 

1. การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

 

2.การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ใด้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล

 

3.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) ละการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน

 

4.การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน

 

5.การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ

 

6.การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน

 

7.การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ

 

8.การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย

 

9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

10.การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา

 

11.การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

 

12.การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

 

ตลอดระยะเวลาที่ น.ส.ตรีนุช เป็นผู้นำขับเคลื่อนนโยบายที่ตั้งไว้ตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ทั้ง 12 ข้อนั้น มีการประเมินผลจากหน่วยงานในสังกัดหรือไม่ว่านโยบายเหล่านั้นได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง และประสบความสำเร็จไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะภาพที่เห็นระบบการศึกษาของไทยยังอยู่ใน“โหมดเดิม”

 

 

น่าสนใจยิ่ง ครูอุ้ม ‘พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) หรือ เสมา 1 ข้ามสายอาชีพสุดขั้ว จากตำรวจมาดูแลงานการศึกษา  เมื่อตรวจสอบประวัติ ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ไม่พบประวัติเส้นทางสายงานด้านการศึกษา ทำให้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า แนวทางหรือนโยบายของ รมว.ศธ.คนใหม่ ในกระทรวงศึกษาธิการ จากนี้ไปการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร

   ...ชัยวัฒน์ ปานนิล...รายงาน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ