ข่าว

มุ่งสู่ Gen-AI 'อธิการบดีจุฬาฯ' ไฟเขียวใช้ 'ChatGPT- AI' ในการเรียนการสอน

18 ก.ค. 2566

‘อธิการบดีจุฬาฯ’ ไฟเขียวให้ นิสิต-อาจารย์ ใช้ ‘ChatGPT- AI’ ในการเรียนการสอน-การใช้งาน แต่ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ต้องคำนึงถึงแนวปฏิบัติในการใช้ AI ที่เหมาะสม เพื่อมุ่งสู่ Gen-AI ใช้งานด้วยความเข้าใจ ไม่มีการบังคับ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการบุกเบิกในเรื่องการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในการเรียนการสอนของคณาจารย์และนิสิตอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ เช่น ChatGPT มีการจัดกิจกรรม Chula Lunch Talk เพื่อเผยแพร่ความรู้ในแง่มุมต่างๆ โดยคณาจารย์จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการนำ AI และ CHAT GPT มาใช้ในการเรียนการสอน 

นอกจากนี้จุฬาฯ จะให้ทุนสนับสนุนแก่คณาจารย์จุฬาฯ จำนวน 100 คน เพื่อนำ AI และ CHAT GPT ไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ภาพรวมและนโยบายของการใช้ Gen-AI  หรือ GENERATIVE AI หรือ เทคโนโลยีแทนมนุษย์ (เป็นเทคโนโลยีที่ใช้โมเดลเชิงประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างข้อมูลใหม่โดยอัตโนมัติ)

 

 

จะมุ่งเน้นไปที่ 2 หลักการคือ Embrace และ Understanding โดยจุฬาฯ จะสนับสนุนการใช้งานด้วยความเข้าใจ ไม่มีการบังคับ

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหน้าสนับสนุนการใช้ Generative AI โดยขับเคลื่อนสนับสนุนให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรใช้ AI อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง 

มุ่งสู่ Gen-AI \'อธิการบดีจุฬาฯ\' ไฟเขียวใช้ \'ChatGPT- AI\' ในการเรียนการสอน

 

 

โดยในส่วนของผู้เรียน หรือ นิสิตจุฬาฯ จะต้องพึงระวังดังนี้

  • ปรับใช้ AI เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มที่
  • เข้าใจว่า AI มีความสามารถและข้อจำกัดอะไร 
  • อ้างอิง การใช้งาน AI ให้ชัดเจน ถูกต้อง 
  • ระมัดระวัง ไม่นำข้อมูลลับเข้าระบบปัญญาประดิษฐ์ 

 

 สำหรับผู้สอน หรือ 'อาจารย์จุฬาฯ' จะต้องใช้AI ดังนี้

  • ปรับใช้ AI ในการเรียนการสอน 
  • เข้าใจ  ถึงความสามารถและข้อจำกัดของ AI 
  • ออกแบบ  กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสม และ 
  • ระบุ ขอบเขตและแนวทางการใช้ AI ในประมวลรายวิชา

 

 

ส่วนการเตรียมความพร้อม สำหรับ ประชาคมจุฬาฯ นั้น รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ Chief Learning Innovation Officer จุฬาฯ อธิบายว่า จุฬาฯ มีการเตรียมการอย่างไรไปแล้ว เช่น การจัด Lunch Talk เกี่ยวกับการใช้ CHAT GPT ในแง่มุมต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 

 

 

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

หลักการในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้นิสิตและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม


2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลตลอดจนการทำงานให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์และถูกหลักจริยธรรม

 

3.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ

 

รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ ระบุว่า นอกข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังของการใช้ ChatGPT , GENERATIVE AI แล้ว ยังได้เน้นย้ำถึงเรื่องของหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาฯ โดยทางจุฬาฯ ได้วางแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอาไว้ ได้แก่

 

1. การเรียนการสอนและการประเมินผล

  •  ผู้สอนควรเข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกใช้ และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสมกับเครื่องมือนั้น
  • ผู้สอนควรระบุในประมวลรายวิชาให้ชัดเจนถึงขอบเขตและแนวทางการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT, Google Bard ในรายวิชานั้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนทราบ
  • หากรายวิชาใดอนุญาตให้นิสิตใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ผู้สอนควรปรับวิธีการวัดประเมินผลให้เหมาะสม ไม่ควรประเมินผลโดยตรงจากงานที่นิสิตสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ตอบได้

 

2. การใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์

  • ปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือ ผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลและผลงานที่ได้
  • หากมีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในงานใด ให้อ้างอิงและระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตการใช้ในงานนั้น การปกปิดไม่แจ้งข้อมูลการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นการละเมิดหลักจริยธรรมซึ่งอาจถูกลงโทษตามระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้

 

3. การปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล

ห้ามนำข้อมูลใด ๆ ที่เป็นความลับของหน่วยงานหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลโหลดเข้าไปในระบบงานปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง

 

ทั้งหมดนี้  จากเวทีเสวนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดงานเสวนาวิชาการChula the Impact ครั้งที่ 19 เรื่อง “จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI”จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 14.00 – 15.30 น. ณ PLEARN Space ชั้น 1 อาคารเปรมบุรฉัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือAI มาใช้ในการเรียนการสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

 

มุ่งสู่ Gen-AI \'อธิการบดีจุฬาฯ\' ไฟเขียวใช้ \'ChatGPT- AI\' ในการเรียนการสอน

 

ผู้ที่สนใจรับชม เสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 19 เรื่อง “จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI” จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI ย้อนหลัง สามารถรับชมบันทึกการถ่ายทอดสดได้ทางfacebook.com/ChulalongkornUniversity