ข่าว

‘แด๊ดดี๊ ศิธา’ ปัดให้ท้าย ‘หยก’ แต่โทษให้พ้นสภาพ ‘นักเรียน’ รุนแรงไป

20 มิ.ย. 2566

'ศิธา ทิวารี' แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ปัดให้ท้าย ‘หยก’ ชี้โรงเรียนออกกฎต้องทำตามระเบียบ แต่โทษให้พ้นสภาพ ‘นักเรียน’ รุนแรงเกินไป ย้ำ เด็กไทย มีความคิดเป็น ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ภายหลังทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือ 'เตรียมพัฒน์' ออกแถลงการณ์ระบุว่า ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปี พยายามปีนรั้วเข้าเรียน ได้พ้นสภาพการเป็น ‘นักเรียน’ ของเตรียมพัฒน์ ไปแล้วนั้น ขณะที่ทุกภาคส่วนพยายามเจรจาขอให้โรงเรียนรับเด็กเข้าเรียน ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจาก ‘แด๊ดดี๊ ศิธา’  ทิวารี

ระดับต่ำสุดของศีลธรรม คือ การบังคับให้ต้องฝืนทำ

น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์พาดพิง น.ต.ศิธา เรื่องชุดเครื่องแบบนักเรียน คือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ อย่าเอาแต่ใจ โดยบอกว่า การที่บอกว่าเด็กใส่ชุดอะไรไปโรงเรียนก็ได้ หมายความว่าเป็นชุดที่เหมาะสมกับการเป็นนักเรียน หรือจะใส่ชุดนักเรียนก็ได้ แต่ถ้าผู้ปกครองไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียน ก็สามารถใส่ชุดอื่นได้ เพราะยังมีอีกหลายครอบครัวที่มีความลำบากต่อการจัดหาชุดนักเรียน ซึ่งก็ไม่ควรไปบังคับ เพราะระเบียบวินัยต้องเริ่มจากข้างใน มีระดับความรู้สึกนึกคิดของคน หรืออาจจะเป็นศีลธรรมก็ได้ 

 

ซึ่งระดับต่ำสุดของศีลธรรม คือการบังคับให้ต้องฝืนทำ และคนต้องยอมทำเพราะถูกบังคับ แต่เมื่อเด็กคนนั้นไปอยู่ในจุดที่ไม่มีการบังคับ ก็อาจควบคุมอะไรหลายหลายอย่างไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก 

 

เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก

นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ได้บังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียน ซึ่งหลายประเทศก็มีความเจริญมากกว่าประเทศไทยด้วย จึงอยากถามว่าเด็กไทยมีความรู้สึกนึกคิดด้อยกว่าเด็กต่างชาติหรือไม่

หยก เยาวชนวัย 15 ปี ในชุดไปรเวทขอเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กรุงเทพฯ

 

ขณะเดียวกันหากไม่บังคับให้ใส่ชุดนักเรียนจะเกิดความฟุ้งเฟ้อ มีการแข่งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพง เรากำลังจะบอกว่า การบังคับให้ทุกคนทั้งหมดต้องทำเหมือนกัน เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งถ้าโรงเรียนบอกว่าใส่ชุดอะไรไปก็ได้ การแข่งขันเหมือนกันแต่เมื่อมีการแข่งขันเรื่องการฟุ้งเฟ้อ โรงเรียนสามารถออกกฎห้ามใส่เสื้อผ้าที่มีราคาแพงก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นการออกกฎที่ตรงกับเจตนารมย์ และไม่รบกวนสิทธิคนอื่น

 

“ยกตัวอย่างว่าหากเป็นลูกของผมอยู่ในโรงเรียนที่ต้องแต่งเครื่องแบบ ผมก็จะบอกลูกให้แต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ถ้าโรงเรียนบอกใส่ชุดอะไรก็ได้ แล้วลูกมาถามก็จะบอกว่าโรงเรียนไม่ได้บังคับอยากจะใส่ชุดอะไรก็ได้ แต่ถ้าแต่งชุดนักเรียนไปก็น่ารักดี เพราะผมมีปัญญาที่จะซื้อชุดนักเรียนให้ลูก แต่ถ้าคนที่ลำบากในการซื้อชุดนักเรียน จะได้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ ซึ่งมันก็มีหลายเหตุผล” น.ต.ศิธา ระบุ

 

ในช่วงที่ตนรับราชการ ก็ใส่เครื่องแบบเพราะราชการกำหนดแบบนั้น แต่ตอนนี้ตนไม่ใช่ข้าราชการแล้วก็ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ส่วนในรัฐสภา ไม่ได้มีการบังคับให้ใส่เครื่องแบบรัฐสภา ดังนั้นบางคนก็แต่งกายด้วยเครื่องแบบ บางคนก็แต่งกายด้วยสุภาพเรียบร้อย ดังนั้นสำหรับโรงเรียนตนมองว่า การปลูกจิตสำนึกให้กับเด็ก ควรบาลานซ์เรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย

 

อีกทั้งเมื่อวานนี้(19 มิ.ย.2566) ตนได้พูดเรื่องโรงเรียนด้วยว่า ถ้าโรงเรียนมีข้อกำหนดอยู่แล้วหากเด็กเข้าไป ก็ต้องทำตามกฎ และตนไม่ได้ให้ท้ายว่าเด็กที่ไม่ทำตามระเบียบโรงเรียนไม่ควรถูกลงโทษ เพราะควรทำตามระเบียบของโรงเรียน ดังนั้นก็ให้ว่าไปตามบทลงโทษ 

 

“แต่ความผิดเหล่านี้ไม่ใช่ให้พ้นสภาพการเป็นนักเรียน แต่ถ้าระเบียบที่บังคับให้เด็กต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ จะมีเรื่องของจริยธรรมและศีลธรรม ถ้าไม่ทำแล้วจะมีความผิด แต่ถ้าเด็กรู้ว่า ทำเพราะควรทำ เด็กจะเป็นคนที่พัฒนาตัวเองได้ดี”

 

เมื่อถามย้ำว่านายสาธิตได้ตั้งคำถามว่ามีการเชียร์กันเกินไปหรือไม่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า ตอนนี้คนมีความคิดสุดโต่งสองข้าง คือ 1.ต้องบีบบังคับเอียงไปทางเผด็จการ และ 2.คือสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตยไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ทำอะไรทุกอย่างได้ตามใจตัวเอง

 

คำว่าประชาธิปไตย คือการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ และฟังเสียงข้างมาก  ประชาชนมีีสิทธิเสรีภาพุแต่ไม่ไปล่วงละเมิดผู้อื่น เพราะฉะนั้นถ้าโรงเรียนมีกฎระเบียบแบบนี้เด็กก็ควรทำตาม หากทำผิดโรงเรียนก็ควรลงโทษตามกฎ แต่ไม่ใช่เอาหลายเรื่องมาโยงกัน

 

โทษพ้นสภาพนักเรียนแรงไป

"ขอยกตัวอย่างความผิดที่ไม่ใส่ชุดนักเรียน การทำสีผม มีบทลงโทษความผิดตามขั้นตอน หากทำผิดหลายครั้งก็อาจจะไม่ให้เข้าเรียน หรือให้พ้นสภาพความเป็นนักเรียนก็เป็นไปได้ แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่าผมไม่ได้ให้ท้ายหยก 

 

แต่การพิจารณาโทษเด็กที่อายุ 15 ปี ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ แล้วทำความผิดแค่นี้ โรงเรียนบอกว่าไม่รับ เมื่อกลับไปดูในเนื้อหา แล้วมาบอกว่าไม่ได้มามอบตัวตามเวลา ทั้งที่ผู้ปกครองกับตัวเด็กก็ยืนยันว่ามามอบตัวและจ่ายเงินแล้ว แค่ไหนก็ต้องไปดูว่าจริงๆ แล้วผิดแค่ไหน”

‘แด๊ดดี๊ ศิธา’ ปัดให้ท้าย ‘หยก’ แต่โทษให้พ้นสภาพ ‘นักเรียน’ รุนแรงไป

 

เมื่อถูกถามถึงสีเชือกรองเท้าของ น.ต.ศิธา ที่มาในชุดสูทแต่สวมรองเท้าผ้าใบสีขาวที่มีการผูกเชือกรองเท้าคนละสีคือสีส้มและสีแดง โดยเจ้าตัว บอกว่าเดือนนี้เป็นไพร์ด มันท์ ก็คือมีความหลากสี ซึ่งในใจก็ชอบทั้งสีส้มและสีแดงอยากให้อยู่ด้วยกัน คนละข้าง เวลาเดินก็จะสลับกันส้มแดง งานก็เดินไปข้างหน้าด้วยกัน