ข่าว

เปิดช่องโหว่ "เด็กเกิดน้อย" ด้อยคุณภาพ วัย 0-2.5ขวบ รัฐเอื้อมไม่ถึง

เปิดช่องโหว่ "เด็กเกิดน้อย" ด้อยคุณภาพ วัย 0-2.5ขวบ รัฐเอื้อมไม่ถึง

30 ม.ค. 2566

ปี2566 คาด "เด็กเกิดน้อย" พบจากเด็ก 2.3 ล้านคน มีถึงร้อยละ 26 มีภาวะบกพร่องครอบครัว มีพฤติกรรม "หนี นิ่ง สู้"โตมากับความเครียด พัฒนาการช้า ใช้ความรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น วัยกลางคนมีโรคไม่ติดต่อ อายุสั้น ปิดทางก้าวสู่สังคมยั่งยืนหรือไม่?

ด้วยไลฟ์สไตล์และค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่แต่งงานมีครอบครัว หรือแต่งงานและไม่มีบุตร เป็นอีกปัจจัยทำให้ “เด็กเกิดน้อย” เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดภาพรวมสถานการเด็กเล็กของประเทศไทย กับ “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า เด็กเกิดน้อยลง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่บ้านเราเด็กเกิดน้อยแต่คนไทยอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น

 

ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบ 3 เรื่องใหญ่สำคัญในการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 

  1. สุขภาพกาย สุขภาพใจ 
  2. ศักยภาพ
  3. พฤติกรรม

“3 เรื่องใหญ่สำคัญมากในการปั้นเด็กเล็ก ความจริงเด็กจะถูกสร้างตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา จนถึงวัย 8 ขวบ การจะสร้างอะไรในตัวเด็กต้องสร้างกันตั้งแต่วัยนี้ เป็นการสร้างว่าในอนาคตเด็กคนนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน 8 ปีแรกจะเป็นตัวกำหนดสุขภาพกาย สุขภาพใจ และพฤติกรรมการเรียนรู้ในอนาคต”

 

เด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย (อินโฟกราฟิก..เด็กไทยเกิดน้อยลง )และนานาชาติทำงานเชิงรุกร่วมกัน สร้างคนคุณภาพเพื่อก้าวสู่สังคมยั่งยืน ไล่เรียงมาตั้งแต่การทำ "หนึ่งพันวันแรกของชีวิต" เริ่มนับตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 2 ขวบ แต่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังดำเนินการ เน้น "สามพันวันแรกของชีวิต" เริ่มนับตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนเด็กอายุ 8 ขวบ

 

ที่น่ายินดีทุกพรรคการเมือง สนใจพัฒนาเด็กเล็กมากขึ้น ทำให้เกิดรัฐสวัสดิการต่างๆ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ รัฐบาลอุดหนุนรายหัวละ600 บาทต่อเดือน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี2565 มีเด็กที่ครอบครัวมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 100,000 บาท(แสนบาท)ได้รับสวัสดิการจากรัฐแล้วจำนวน 2.3 ล้านคน

อินโฟกราฟิก..เด็กไทยเกิดน้อยลง

เด็กเล็กจำนวน 2.3 ล้านคน มีถึงร้อยละ 26 มีภาวะบกพร่องครอบครัว มีพฤติกรรม “หนี นิ่ง สู้” โตมากับความเครียด มีพัฒนาการช้า ใช้ความรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ในวัยกลางคนจะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ อายุสั้น ปิดทางก้าวสู่สังคมยั่งยืนหรือไม่

 

สังคมไทยต้องลงทุนพัฒนาเด็ก ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 8 ขวบ เด็กเล็กเหล่านี้รัฐควรจัดสวัสดิการต่างๆ ดูแลอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกัน ทำให้ดีที่สุด

 

ในทางปฏิบัติพบว่าประเทศไทยทำแล้วหลายจุดแต่มีช่องโหว่ ไม่สมบูรณ์ เด็กเล็กเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ แม้จะมีการดูแลแบบสงเคราะห์และแบบคุ้มครองเด็ก แต่ไม่ครอบคลุมเด็กเล็กทั้งหมด

 

ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัมนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 12 เชื่อมโยงฉบับที่13 และตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ เด็กต้องได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ซึ่งทุกพรรคการเมืองชัดเจนและตื่นตัวในเรื่องนี้มาก

 

แม้มีหน่วยงานภาครัฐอยู่หลายกระทรวงดูแลเด็กเล็ก แต่ยังมีช่องโหว่ทำให้เด็กเล็กด้อยคุณภาพ เฉพาะวัย 0-2.5ขวบ(ทารก-สองขวบครึ่ง) ในทางปฏิบัติพบว่ารัฐเอื้อมไม่ถึง เป็นจำนวนมาก

 

เด็กเล็กกลุ่มนี้ พ่อแม่ไม่พร้อม ทั้งจากความยากจน ติดยาเสพติด ป่วยจิตเวช แม่ไม่ยอมฝากครรภ์ ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกหลักอนามัย เด็กที่คลอดออกมาด้อยคุณภาพ ไม่ได้รับการดูแลเลี้ยงดูทั้งด้านสุขภาพกายสุขภาพใจ

 

เด็กเครียดตั้งแต่เกิด เติบโตเป็นเด็กมีปัญหาไม่สามารถเชื่อมสัมพันธ์เข้ากับสังคมได้ดีเมื่อเทียบกับเด็กทีไ่ด้รับการดูแลด้วยความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ครอบครัวที่อบอุ่น

...กมลทิพย์ ใบเงิน..เรียบเรียง