อำนาจล้นฟ้า ขุมกำลัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ “ตรีนุช” ทำคลอดมากับมือ
โละ3 คำสั่ง ม.44 ก่อนหน้าใช้ 19/2560 เมื่อ3เม.ย.ปี60 ฟื้นศธจ.-ศธภ.ที่เลิกใช้มากว่า10ปี แม้ไม่มีโรงเรียนในสังกัด ทำงานซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่ แต่ล่าสุด ทนกระแสต้านไม่ไหว “ตรีนุช” คืนอำนาจ ทำคลอด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มากับมือ หากไม่พลาด 6 ก.พ.นี้รู้กันเป็นใครบ้าง?
สับขาหลอก หรือคืนอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา ผ่าน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565 ซึ่งเป็นอำนาจของ “ตรีนุช เทียนทอง” รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานบอร์ด อ.ก.ค.ศ.
สาระสำคัญของคำสั่งนี้ คือยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ที่ออกไปก่อนหน้านี้ 3 คำสั่งได้แก่ คำสั่งที่ 10-11/2559 ลงวันที่ 21 มี.ค.2559 และคำสั่งที่ 38/2559 ลงวันที่ 12 ก.ค. โดยให้ใช้ คำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เพียงฉบับเดียว
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ 6 ก.พ.2566 นี้ “ตรีนุช” ในฐานะประธานบอร์ด อ.ก.ค.ศ. ต้องประกาศรายชื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ
“ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีการทุจริตหรือไม่” ผู้บริหารระดับสูงในศธ.รายหนึ่ง ระบุ จนนำไปสู่การสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โดยไม่มีการเลือกตัั้ง แต่ใช้วิธีการสรรหาแทน
ย้อนไปเมื่อปี 2547 โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้มีการยกเลิกตำแหน่ง ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และศึกษาธิการภาค(ศธภ.)อ้างความซ้ำซ้อนกันสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
หลังรัฐประหาร รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งคสช.ที่19/2560 ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ฟื้นอำนาจหน้าที่ ศธจ.-ศธภ. หลังจากเลิกใช้มา13ปี
เกิดความวุ่นวายในระดับปฏิบัติการ เมื่อทั้ง ศธจ.-ศธภ. ไม่มีโรงเรียนในสังกัด ทำงานซ้ำซ้อนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั้ง สพป. และสพม.
“องค์กรครู” ออกมาเคลื่อนไหวขอให้รัฐบาล และ “ตรีนุช เทียนทอง” รมว.ศธ. ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่19/2560 ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การได้มาของบอร์ด อ.ก.ค.ศ. ไม่มีตัวแทนวิชาชีพ ทำให้ “ครู” ไม่มีส่วนร่วมในการดูแลครู จากอดีตครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในระดับภูมิภาค
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) ระบุว่า องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน โดย ผอ.เขตพื้นที่ฯ เป็นเลขานุการ และองค์ประกอบไตรภาคี ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ 3 คน และผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 3 คน รวมเป็น 11 คน จะเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัว มีความโปร่งใส และไม่เป็นคณะที่ใหญ่มาก
กระแสสังคมมีคำถาม ทำไม อ.ก.ค.ศ.เพขตพื้นที่ฯ คลอดในช่วงตลาดการเมืองคึกคัก หรือมีนัยยะซ่อนเร้น เพื่อชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งในระดับภูมิภาค ด้วยหรือไม่ งานนี้ “ตรีนุช” คงมีคำตอบอยู่แล้ว!!