ข่าว

'กนก' แนะ7 เทคนิคการสอน"วันครู"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศ.ดร.กนก แนะเคล็ด(ไม่)ลับ 7 เทคนิคการสอน วันครู หน้าที่ครู พึงมีคุณค่าและความหมายของ"วันครู" เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของครู ไม่ใช่จากการเรียกร้องของครู ชี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ไม่ตอบโจทย์แ้กไขปัญหาประเทศ

วันที่ 16 มกราคม 2566 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน นักวิชาการด้านการศึกษา ระดับแถวหน้าของไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan) ใจความว่า

 

“วันครู หน้าที่ครู”

วันครูคือวันสำคัญสำหรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทย ครูเปรียบเสมือน”ปูชนียบุคคล”เพราะคุณค่าการปฏิบัติหน้าที่การสอนที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียน

 

วันครูมีคุณค่าและความหมายเมื่อนักเรียนได้รับประโยชน์และเห็นคุณค่าของการสอนของครู

 

ดังนั้นวันครูจึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ครูจะทบทวนการปฏิบัติหน้าที่การสอนของตน เพื่อให้ครูเป็น”ปูชนียบุคคล”จริงตามที่ปรากฏในวัฒนธรรมไทย

 

หน้าที่สำคัญของครู คือ”การสอน” ประเด็นการคิดทบทวนคือการสอนอย่างไรที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ของนักเรียน (การคิดวิเคราะห์เป็น และปฏิบัติได้) และทำให้ครูภาคภูมิใจใน”วิชาชีพครู”ของตนเองได้

 

1) การสอนที่ดีต้องเริ่มต้นจากการรู้จัก”ตัวนักเรียน” เช่น วิถีชีวิต ครอบครัว ชุมชนที่นักเรียนและโรงเรียนตั้งอยู่ จนถึงข้อจำกัดและความสนใจของนักเรียน เมื่อครูนำความรู้เกี่ยวกับตัวนักเรียนไปออกแบบการสอนและจัดการชั้นเรียน และเมื่อการสอนผูกโยงสาระวิชากับชีวิตจริงและความสนใจของนักเรียน ความสนใจอยากเรียนรู้ของนักเรียนจะเกิดขึ้น

 

2) การสอนที่ดีต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 เรื่อง คือ 2.1)การกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้, 2.2)การประเมินผล, และ 2.3)กิจกรรมการสอนและการเรียนรู้ การออกแบบการสอนสู่การเรียนรู้ต้องชัดเจนทั้ง 3 เรื่อง

 

3) การสอนที่ดีต้องกำหนดความคาดหวังต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้ชัดเจน โดยเฉพาะวัตถุประสงค์, แนวทางการเรียนรู้, และการประเมินผลกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ความชัดเจนนี้จะช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้และสัมพันธ์สอดคล้องกัน

'กนก' แนะ7 เทคนิคการสอน"วันครู"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

'กนก' แนะ7 เทคนิคการสอน"วันครู"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

4) การสอนที่ดีต้องกำหนดลำดับความสำคัญของความรู้และทักษะปฏิบัติที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้และปฏิบัติได้ การใส่สาระความรู้และทักษะปฏิบัติที่มากจนนักเรียนไม่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ถือเป็นการสอนตามความต้องการของครู ไม่ใช่ประโยชน์การเรียนรู้ของนักเรียน

 

5) การสอนที่ดีต้องไม่คิดเอาเองว่า นักเรียนจะเข้าใจสาระความรู้และสามารถปฏิบัติทักษะนั้นได้ตามที่ครูเข้าใจและปฏิบัติได้ ครูจำเป็นต้องแยกแยะสาระความรู้และทักษะปฏิบัติออกเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน และให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นได้

 

6) การสอนที่ดีต้องปรับแนวทางและวิธีการสอนให้เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น การท้าทายให้คิดวิเคราะห์,การอธิบาย, การค้นหาทางเลือกใหม่ๆ จนถึงการแนะนำ, การกำหนดกรอบแนวทาง, การสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของนักเรียนและชั้นเรียน

 

7) การสอนที่ดีต้องรับฟังการสะท้อนผลจากเพื่อนครูและนักเรียน การคิดทบทวนของครูเอง เพื่อแก้ไขปัญหาและจุดอ่อนของการสอนที่ผ่านมา และนำไปสู่การพัฒนาสาระความรู้ ทักษะปฏิบัติที่ต้องการสอน จนถึงวิธีการสอนให้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น การสอนที่ดีที่สุดไม่มี เพราะนักเรียนแต่ละคน แต่ละรุ่นเปลี่ยนไป ไม่เหมือนกัน ครูจึงจำเป็นต้องปรับวิธีการสอนและพัฒนาการสอนของตนตลอดเวลา

 

ผมเชื่อว่าถ้าครูสามารถปฏิบัติหน้าที่การสอนทั้ง 7 ประการนี้ด้วย”จิตใจ”ที่รักและปรารถนาดีต่อนักเรียน คุณค่าและประโยชน์จากการสอนของครูจะเกิดขึ้นกับนักเรียน เมื่อนั้น”วันครู”จะมีคุณค่าและความหมายต่อนักเรียนและสังคมไทย

คุณค่าและความหมายของ”วันครู” เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของครู ไม่ใช่จากการเรียกร้องของครู

 

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน  นักวิชาการศึกษา สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์”ว่า วันครู หน้าที่ครูทั้ง 7 ข้อนี้ หากพิจารณาตาม ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ จะไม่ตอบโจทย์ทั้ง 7 ข้อนี้เลย เพราะไม่มีส่วนไหนให้เรามั่นใจได้เลย อันนี้คือปัญหาของพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ และสรุปได้ดังนี้ 

 

ประเด็นแรก มุ่งเน้นประเด็นการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับครูเป็นหลัก ส่วนลักษณะเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา เป็นการพูดกว้างๆ ครอบคลุมทุกเรื่อง แต่ไม่มีวิธีการ และกลไก ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน  

 

ประเด็นที่ 2 ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ เป็นการพูดถึงการศึกษาที่จบในตัวเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ แต่การศึกษาที่แท้ขจริงต้องตอบโจทย์ประเทศชาติด้วย นั่นคือ ปัญหาประเทศคือ ปัญหาความไม่รู้ของคน และความยากจนของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฐานราก ซึ่งการศึกษาเฉพาะนี้ไม่ตอบโจทย์เลย

 

“ความคาดหวังที่จะเห็นร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ จะแก้ไขปัญหาประเทศ จึงไม่มี ผมคิดว่าพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้จะต้องกลับไปทบทวนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดประโยชที่เป็นรูปธรรมใน4 เรื่องใหญ่นี้ 1.คุณภาพของนักเรียน 2.การแก้ไขความไม่รู้ของคนไทยในประเทศ 3. การแก้ไขปัญหาความยากจน 4. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อม”ศ.ดร.กนก กล่าวทิ้งท้าย

การศึกษา ต้องแก้ปัญหาประเทศ

การศึกษา ต้องแก้ปัญหาความไม่รู้ประชาชนในประเทศ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ