กลเกม "โยกย้าย ซี11 ศธ." บทพิสูจน์ ค่าของคน คนของใคร
อัมพร เลขาฯ กพฐ. ยึดเก้าอี้เหนียวแน่น อรรถพล โยกมานั่ง ปลัดศธ. ส่วน สุเทพ ข้ามห้วยไปเป็น เลขาธิการ สกศ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ได้ดี ไต่ขึ้นซี11 จากรองเลขาธิการ กพฐ. ขึ้นเป็น เลขาธิการ กอศ. นี่คือ กลเกม "โยกย้ายซี11ศธ." บทพิสูจน์ ค่าของคน...คนของใคร?
สิ้นสุดการรอคอย เมื่อวันอังคารที่ 30 สิงหาคม กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีการเสนอรายชื่อผู้บริหารระดับ 11 ของ ศธ."โยกย้ายซี11ศธ." เพื่อทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง “ปลัดศธ.” ถึงคิวภาคบังคับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ “เสมา1” ชงเสนอรายชื่อซี11ศธ.ให้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ สอศ.)
“ส่วนรายละเอียดการพิจารณาให้สอบถาม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ด้วยตนเอง เนื่องจากขณะนี้ น.ส.ตรีนุช ติดภารกิจพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี จ.ปทุมธานี” คุณหญิงกัลยา ระบุ
ว่ากันว่า ก่อนหน้าที่ ครม.จะมีมติเห็นชอบ “โยกย้ายซี11ศธ.” นั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง บอกด้วยว่า ทำด้วยตัวเองไม่มีใครขอมา หรือมีกลุ่มอื่นเข้ามาแทรกแซง กดดัน ในการคัดเลือกบุคคล แม้กระทั่งการจัดรายชื่อโยกย้ายผู้บริหาร ศธ.ก็ตรงไปตรงมา และถูกหลักการ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานการศึกษาต่อยอดและพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ว่ากันว่า สิ้นปีงบประมาณ 2565 นี้ สำรวจพบจะมีอัตราผู้เกษียณอายุราชการของผู้บริหาร ศธ.ประเภทบริหารระดับสูง ซี 11 และ ซี 10 รวมทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,ผู้ตรวจราชการ ศธ. 1 ตำแหน่ง,ศึกษาธิการภาค 8 จ.ชลบุรี และศึกษาธิการภาค 17 จ.พิษณุโลก ตามด้วยตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ว่างจากปีที่แล้วอีก 1 ตำแหน่ง
สอดรับกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ที่จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2565 นี้ เคยทิ้งท้ายถึงแนวทางการทำงานและสิ่งที่เป็นห่วงก่อนที่จะลุกจากเก้าอี้ปลัดศธ.ก็คือ การบรรจุแต่งตั้งรองศึกษาธิการจังหวัด ทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ ปีนี้มีไม่น้อยกว่า 10 ราย ต้องมีการเปิดสอบรองศึกษาธิการจังหวัดกันใหม่ เนื่องจากบัญชีผู้ที่สอบได้ใกล้หมดอายุเร็ว ๆนี้ และหากกรณีที่บางจังหวัดมีศึกษาธิการจังหวัด เกษียณอายุราชการด้วย จะทำให้เหลือรองศึกษาธิการจังหวัดทำงานคนเดียว ย่อมส่งผลต่อการขับเคลื่อนการศึกษาสะดุดลงได้
อีกทั้ง ช่วงนี้ ยังมีตำแหน่งใน ศธ.ที่กำลังอยู่ในระหว่างการสรรหาว่างอยู่ เมื่อมีการโยกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ก็ต้องมีแต่งตั้งคนเข้าไปแทน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งจะมีการโยกย้าย แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด หลายแห่ง ซึ่งมีความสำคัญ ฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “กศจ.” อีกด้วย
จากคำกล่าวของ รมว.ตรีนุช และปลัด ศธ. นั่นหมายความว่า มีโอกาสความเป็นไปได้อย่างมาก ที่ น.ส.ตรีนุช จะชงโผรายชื่อแต่งตั้งผู้บริหารระดับ 10 ขึ้น 11 ทดแทน 1 อัตราเกษียณฯ หรืออาจมีการโยกสลับตำแหน่งผู้บริหารระดับ 11 ในบางแท่งองค์กรบริหารหลัก เข้าสู่ที่ประชุม ครม. หรืออาจจะมีสลับตำแหน่ง ระดับ 11 เพียง 2 ตำแหน่ง หรือ ทั้ง 3 ตำแหน่ง ในวันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 นี้ ซึ่งในที่สุดก็เป็นไปตามนั้น
เมื่อครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “โยกย้ายซี11ศธ.” ให้ "อรรถพล" นั่ง "ปลัด ศธ." ส่วน "สุเทพ" เป็น "เลขาฯ สกศ." โยก"ธนุ" ขึ้นเป็น "เลขาฯ กอศ."
ทำความรู้จักซี11ศธ.
อรรถพล สังขวาสี ปลัดศธ.
อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัดศธ.)คนใหม่ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เติบโตมาจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และรองเลขาธิการ กอศ.
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้เสนอที่ประชุม ครม.ให้อนุมัติขยับขึ้นจากผู้บริหารระดับ 10 ตำแหน่งรองเลขาธิการ กอศ.และ เป็นผู้บริหารระดับ 11 ในตำแหน่งเลขาธิการ สกศ. ตามลำดับ และ วันนี้ 30 สิงหาคม 2565 ดวงกำลังดี ไม่มีตกถูกโยกกลับวังจันทรเกษมในตำแหน่ง ปลัดศธ.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ.
มาถึงคิว ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ.ได้ดีขึ้นซี11 ป้ายแดง อดีตรองเลขาธิการ กพฐ. คนนี้ ดูประวัติแล้ว มีเส้นทางการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ค่อนข้างสดใส มีความก้าวหน้ามาลำดับ จากตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม(ศธจ.มหาสารคาม) เป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นเลขาธิการคุรุสภา จนมาเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังเหลืออายุราชการอีก 3 ปีกว่า
เหนืออื่นใด "ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา" อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรบริหารหลัก หรือเป็น “1ใน5เสือศธ” เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุด ย่อมได้เปรียบได้ด้านการประสานงานรับนโยบายหลักๆ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว. ศธ.)ไปสู่การปฏิบัติทั่วประเทศไทย มีผลงานสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จมากมายที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และสถานศึกษาทั่วประเทศ
“ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา”จัดได้ว่าเป็นมือประสานสิบทิศ ทำงานเคียงบ่าเคียงไล่มากับลูกพี่ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. อีกทั้งเป็นมือทำงานที่มีพลังในการสานต่ออย่างสุขุม รอบคอบอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานในเชิงนโยบายให้กับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ โดยไร้การต่อต้านและเสียงรบกวน
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.
การเปลี่ยนขุนพล ดูจะไม่เป็นผลดีต่อการรับมือช่วงศึกใหญ่ ที่กำลังจะมาในการ “เลือกตั้ง” สมัยหน้า แม้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เสมา 1 จะคิดเอนเอียงไปทาง ดร.อัมพร พินะสา วาดหวังจะให้ไปนั่งเก้าอี้ ปลัดศธ.ก็ตาม แต่เมื่อมาใคร่ครวญถึงสถานะภาพในการดูแลลี้พล ที่ทำงานเข้าขาอย่างใกล้ชิดกับพี่น้องข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณ 5-6 แสนคน เป็นทุนเดิมแล้ว เท่ากับได้คะแนนเสียงมากกว่า ที่จะเลือกหยิบ เอาใครบางคนที่สังคมครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ ต่างตั้งคำถามถึงการทำงานเรื่องวิทยฐานะครู กลับกลายเป็นปัญหาและไม่เอื้อต่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำให้ดร.อัมพร พินะสา ยังอยู่เก้าอี้เดิมมาอย่างเหนียวแน่น
สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ.
เป็นไปตามคาดหมาย การเมืองในช่วงลมเพลมพัด ส่งแรงกดดันไปถึงคนที่นั่งอยู่ทางฟากคลองผดุงกรุงเกษม ทำให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ อดีตเลขาธิการ กอศ. มือดีด้านอาชีวะ พูดน้อยแต่ทำงานหนัก เดิมมีกระแสจะต้องขยับไปนั่งเก้าอี้ “ปลัด ศธ.” เพื่อเปิดทางสะดวกโดย
“โยกย้ายซี11ศธ.” บางคนเข้ามาทำหน้าที่ แต่ในที่สุด ดร.สุเทพ ถูกย้ายข้ามห้วยไปที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เป็น เลขาธิการ สกศ. ท่ามกลางเสียงบ่นเสียดายฝีมือ เพราะผลงานด้านอาชีวะภายใต้รมเงาของ เลขาฯสุเทพ กำลังขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมได้เป็นอย่างดี
นาทีนี้ “คมชัดลึกออนไลน์” ขอแสดงความยินดีกับใครที่สมหวังได้โอกาสพิสูจน์ฝีมือ ก็ขอให้ทำงานทุ่มเทเพื่อเด็กไทย เพื่อครูไทย เพื่อบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพัฒนาการปฏิรูปการศึกษาไทย ส่วนใครที่ผิดหวังก็รออีกสักปี หรือเปลี่ยน “รัฐมนตรีศึกษาธิการ” ค่อยลุ้นกันใหม่อีกรอบ แต่อย่างน้อยจะเป็นการพิสูจน์ได้ถึงคำพูดที่มักได้ยินทุกครั้งที่มี การแต่งตั้ง โยกย้าย ของราชการ ในทำนองว่า “ค่าของคน หรือ คนของใคร” ตามมาเสมอ
กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube -https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง “คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565” ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524