ข่าว

'วิศวะหุ่นยนต์' อีก5ปี 'ภาคการผลิตยุคใหม่' ต้องการแรงงานกว่า 3-4 แสนอัตรา

กรรมการสภา มทร. สุวรรณภูมิ ระบุ ‘วิศวะหุ่นยนต์’ อีก 5 ปี ‘ภาคการผลิตยุคใหม่’ต้องการแรงงานกว่า 3-4 แสนอัตรา เพื่อสนับสนุนและยกระดับแรงงานทันสมัยสร้างคนให้สามารถควบคุมบริหารจัดการซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ได้

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ( กรรมการสภา มทร.สุวรรณภูมิ)ในฐานะประธานกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่าจากการที่ มทร.สุวรรณภูมิ มุ่งเน้นการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศโดยเฉพาะ "ภาคการผลิตยุคใหม่" ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก

โดยเฉพาะพนักงานในภาคการผลิตต้องยกระดับตัวเองขึ้นให้เป็นผู้ใช้ "หุ่นยนต์" ได้ เพราะหุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานคนโดยสถานประกอบการต่างๆได้นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อใช้ในสายการผลิตมากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังผลิตช่วยให้ธุรกิจเติบโต ทำให้แรงงานที่มีทักษะการเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐานด้านนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นที่ต้องการจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตพื้นที่อีอีซี

 

ตามนโยบายของรัฐบาลมีความต้องการกำลังคนส่วนนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้ากว่า 3-4 แสนอัตรา และเพื่อสนับสนุนและยกระดับแรงงานทันสมัยในด้านนี้เพื่อสามารถสร้างคนให้สามารถควบคุมบริหารจัดการ ซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ได้ สภามหาวิทยาลัย มทร.สุวรรณภูมิ ได้เห็นชอบหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์(หลักสูตรใหม่ พศ. 2565) หรือ "วิศวะหุ่นยนต์" ของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา พร้อมให้เปิดรับสมัครในภาคการศึกษาปี 2565 ซึ่งจะรับสมัครถึง 10 มิ.ย. 2565 นี้

และในส่วนคณะอื่นอีก 5 คณะประกอบด้วยคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร,คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ,คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ ก็มีหลักสูตรที่ทันสมัยมากมายเพื่อให้นักศึกษาที่จบสามารถมีงานทำในแต่ละด้านอย่างมั่นคงและสามารถทำงานได้ทันทีหลังจบ เนื่องจาก มทร. สุวรรณภูมิเน้นการสอนให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ โดยเรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติในสาขาวิชาที่เรียนอย่างเข้มข้น ในรูปแบบสหกิจศึกษา

 

รศ.ดร.ประมุข อุณหเลขกะ  อธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวเพิ่มเติม.ว่า มทร. สุวรรณภูมิ นอกจากมีการปรับหลักสูตรต่างๆให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว ยังสนับสนุนผู้ที่จะเข้าเรียนในด้านต่างๆอีกหลายประการด้วย อาทิ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยกเว้นการเก็บค่าสมัครสอบคัดเลือก(เฉพาะสมัครผ่านระบบโควตา)ให้ทุนค่าธรรมเนียมแรกเข้า ให้ทุนช่วยค่าบำรุงการศึกษาและให้ทุนนักศึกษาเรียนดี เป็นต้นและมั่นใจว่าบัณฑิต มทร.สุวรรณภูมิ ทุกคนเมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีงานรองรับ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ