Lifestyle

"มทร.อีสาน" ร่วมสู้โควิดเปิดรพ.สนาม-สถานที่กักตัวรองรับใน13จังหวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มทร.อีสาน" ร่วมสู้โควิด-19 เปิดโรงพยาบาลสนาม พร้อมสถานกักตัวชั่วคราวทุกวิทยาเขตเพื่อรองรับรับประชาชนที่มาจาก 13จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน(มทร.อีสาน) เปิดเผยว่าจากนโยบายการดำเนินการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยในสังกัดของ อว. จัดตั้งโรงพยาบาลทุกพื้นที่ของประเทศ

 

โดยขณะนี้โรงพยาบาลสนามของ อว. มีมากกว่า41แห่ง และสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ราว12,000เตียง และกำลังขยายผลไปยังสถานศึกษาต่างๆ รวมถึง มทร.อีสาน ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีความตระหนักในการทำงานเพื่อสังคมในสภาวะวิกฤตด้านโรคติดต่อ อุบัติภัย อุทกภัย และงานจิตอาสาเพื่อสังคม

ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรับผิดชอบ ภายใต้การขับเคลื่อนโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภา มทร.อีสาน

ก่อนหน้านี้ มทร.อีสาน ได้มีการจัดส่งทีมจิตอาสาของส่วนกลางนครราชสีมา ในการเป็นสายด่วนรับโทรศัพท์ (Call center)ณ โรงพยาบาลมหาราชมาตั้งแต่วันที่5พฤษภาคม2564และการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน50เครื่อง และการส่งจิตอาสาลงทะเบียนและอำนวยความสะดวกผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราช ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา

มาตั้งแต่วันที่19พฤษภาคม2564เพื่อการเปิดให้ประชาชนชาวโคราชเข้ารับการฉีดวัคซีน และมทร.อีสานยังขอความร่วมมือทุกวิทยาเขตในการสนับสนุนกิจกรรมร่วมกับจังหวัดที่วิทยาเขตดังกล่าวตั้งอยู่ครับ

ในส่วนการดำเนินงานของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ อ.พังโคน จ.สกลนคร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร รวมถึงผู้นำส่วนท้องถิ่น โดยจ่าสิบเอกคำนึง พรหมพิมพ์ นายอำเภอพังโคน นายแพทย์ณรงค์ จันทร์แก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร และนายแพทย์วรรณกร เล่าสู่อังกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพังโคน

โดยเป็นการประชุมหารือเรื่องการเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสกลนคร พร้อมเยี่ยมชมสถานที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประเมินความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่เสี่ยงกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา

ผลจากการประชุมดังกล่าว มีมติเห็นชอบจากที่ประชุมให้จัดเตรียมพื้นที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท เป็นโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสกลนคร เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19ในรายที่อาการไม่หนัก ซึ่งสามารถรองรับได้จำนวนไม่น้อยกว่า50เตียง สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่มีความประสงค์จะกลับมารักษาที่ภูมิลำเนาสามารถติดต่อผ่านช่องทางโทรศัพท์HOT LINE “ไทสกลไม่ทิ้งกัน093-3285264”

ด้าน มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ประชุมร่วมกับนายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนายการและคณะแพทย์โรงพยาบาลสุรินทร์ พร้อมลงพื้นที่ประเมินความพร้อมของสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงที่และได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ โดยใช้ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ อาคารอาทิตยาทร คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งสามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19ได้จำนวน 60-100เตียง พร้อมจัดพนักงานรักษาความปลอดภัย ตลอด24ชม.

ด้าน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น แม้จะไม่ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อไม่ได้สูงมากและสถานที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลของจังหวัดขอนแก่นมีเพียงพอ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นจึงได้เปิดรับสมัครจิตอาสาสู้ภัยโควิด-19เพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนด้านต่างๆ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติขอนแก่น (KICE)เช่น

จิตอาสาด้านการบริการผู้ป่วย จิตอาสาด้านการประชาสัมพันธ์ จิตอาสาด้านบริการทั่วไป ซึ่งจิตอาสาจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามที่กำหหนด ผ่านการคัดกรองตามแบบสอบถามคัดกรองและได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

โดยแบ่งการปฏิบัติงานเป็น3ระยะ คือ ระยะที่1ระหว่างวันที่14-16กรกฎาคม2564ระยะที่2วันที่21-23กรกฎาคม2564ระยะที่3ระหว่างวันที่28-30กรกฎาคม2564ผู้สนใจสมัครเป็นจิตอาสาสามารถโทรติดต่อได้ที่หมายเลข083-2404967หรือ ติดต่อที่แผนกงานพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคาร18ชั้น2

นอกจากนี้ มทร.อีสาน ยังได้จัดเตรียมสถานที่หอประชุมประไพศรี สุภา ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นสถานที่กักตัวชั่วคราว สำหรับประชาชนที่เดินทางมาจาก13จังหวัด ประกอบด้วย

กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา

ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19จากทางโรงพยาบาลแล้วในเบื้องต้น และในระหว่างที่รอผลการตรวจนั้นให้พักอยู่ในหอประชุมประไพศรี สุภา จนกว่าจะยืนยันว่าไม่พบเชื้อ ถึงจะสามารถให้เข้าพื้นที่ ต.หนองระเวียง ได้ โดยในเบื้องต้นมีทางเจ้าหน้าที่ของ มทร.อีสาน ได้ทำความสะอาดสถานที่แล้วเรียบร้อย และจะมีหน่วยงานต่าง ๆ จะนำเตียงสนามมาไว้ให้บริการทั้งหมด30เตียง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มทร.อีสาน ยังคงสนับสนุนให้นักศึกษาบุคลากรทุกคนเข้าถึงการได้รับวัคซีนครบ100เปอร์เซนต์ ซึ่งล่าสุดได้รับการจัดสรรวัคซีนAstra Zenecaชุดที่1รวมทุกวิทยาเขต จำนวน1,120โดส สำหรับบุคลากรและนักศึกษา จากกระทรวง อว.

"โดยบุคลากรและนักศึกษาที่ได้รับการจัดสรรการฉีดวัคซีนดังกล่าว ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ขอความร่วมมือทุกท่านหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก และปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (Covid-19)ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด"รศ.ดร.โฆษิต กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สพฐ. อนุญาต ให้ใช้ "สถานศึกษา" เป็นโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยโควิด-19
เช็กด่วน "รามคำแหง" ลดค่าหน่วยกิต ได้สิทธิ์อะไรบ้าง ในช่วง"โควิด-19"

ศธ.สั่งอาชีวะทั่วประเทศปลูก"ฟ้าทะลายโจร-กระชาย"กว่า 2 แสนต้นแจกประชาชน

ชาวเน็ตวิจารณ์หนัก "นักเรียนติดโควิด-19" ครูถูกกักตัว ไม่มีใครดูแล

มหิดล ปั้น "Young Smart Farmer" ให้เก่งบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ