Lifestyle

พร้อมหรือไม่พร้อม "14 มิถุนายน" นี้ เปิดเรียนแน่นอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันเปิดเรียนตามกำหนดการเดิม 14 มิถุนายน 2564 เน้นย้ำ 'โรงเรียน' ต้องเลือกรูปแบบการสอนที่ปลอดภัย ' ไม่บังคับ' ว่าต้องมาจัดการเรียนในสถานที่ของโรงเรียน

หากไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลง กระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันเปิดเรียนตามกำหนดการเดิม 14 มิถุนายน 2564 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เราจะคิดและจะเรียนแบบไหนดี "ตรีนุช" ตั้งคำถามผอ.เขตทั่วประเทศ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิมในวันที่ 14 มิถุนายน 2564

โดยสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบตามแนวทางที่ได้เคยประกาศไป 5 รูปแบบ ได้แก่ ON-SITE, ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND และ ON-HAND

ทั้งนี้ สถานศึกษาแต่ละแห่งจะใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และหากสถานศึกษาใดต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ON-SITE หรือเป็นการเรียนที่โรงเรียน จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่นั้น ๆ

จากการตรวจสอบในพื้นที่ บางจังหวัดประกาศพร้อมเปิดเรียน ON-SITE ถึงร้อยละ 90 โดยผู้สื่อข่าวได้ติดต่อเข้าสัมภาษณ์ศึกษาธิการจังหวัดดังกล่าว ทางศึกษาธิการจังหวัดให้ข้อมูลว่า โรงเรียนในจังหวัดของตนพร้อมที่จะทำการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน

ด้วยการร่วมมือกับโรงพยาบาลตำบล สาธารณสุขอำเภอ ฝ่ายปกครอง ในการประเมินความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียน เบื้องต้นได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำ ก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลเสนอที่ประชุม สบค.จังหวัด เพื่อพิจารณาต่อไป

ตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ หากสถานศึกษาใดต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ON-SITE จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่นั้น ๆ

ซึ่งจังหวัดดังที่ศึกษาธิการจังหวัดให้ข้อมูล ปรากฏว่า ยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัด หรือประกาศจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้เปิดเรียนแต่อย่างใด ทำให้เห็นได้ว่า ในระดับปฏิบัติแม้จะเป็นหน่วยงานระดับจังหวัดก็ยังขาดการประสานงานและขอบข่ายของอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ต่างฝ่ายต่างก็ไม่อยากรับผิดชอบ เป็นผลจากการสังการที่ไม่ชัดเจนของหน่วยงานต้นสังกัดด้วย

พอมาหน่วยงาน ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า จะต้องตัดสินใจในการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ให้เหมาะสมกับแต่ละบริบท ของแต่ละพื้นที่ เพราะความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากพื้นที่ใดสามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ์ หรือลดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ถ้าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หากต้องจัดการเรียนการสอนขึ้น จะต้องมีการเลือกรูปแบบที่มีความปลอดภัยให้แก่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนอย่างสูงสุด

เป็นการสั่งการแบบ ‘เอาแต่ได้ ไม่ยอมเสีย’ ทำให้ผู้ปฏิบัติตัดสินใจได้ลำบาก โดยเฉพาะปัจจุบัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นเพียงหน่วยประสานในพื้นที่เท่านั้น ไม่มีบทบาทในการตัดสินใจ เพราะโครงสร้างการบริหารแบบศูนย์รวมอำนาจ อยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัดเพียงที่เดียว จึงทำให้เกิดเหตุการณ์แบบที่เห็น

หลายโรงเรียนที่เปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนเดินทางมาจากหลายพื้นที่ หลายตำบล ยกตัวอย่าง เช่น โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ หรือโรงเรียนดังในจังหวัดที่บางครั้งมีนักเรียนเดินทางมาจากต่างอำเภอและเดินทางไปกลับทุกวัน

แม้ว่าโรงเรียนจะดำเนินมาตรการป้องกันได้ดีเพียงใด แต่ข้อจำกัดเรื่องของรถรับส่งนักเรียนก็ยังทำให้มีความเสี่ยงสูงในระหว่างการเดินทาง อย่างเช่น ภาพที่เห็นทั่วไปที่นักเรียนเบียดกันเต็มรถแล้วมาลงรถที่น่าโรงเรียนแล้วก็เว้นระยะห่างหลังจากที่เบียดกันมาบนรถตลอดระยะทางที่เดินทางมาโรงเรียน

โรงเรียนเอกชนต่างๆ ทั้งในตัวอำเภอและตัวจังหวัด ที่ไม่จำกัดเขตพื้นที่รับผิดชอบ และมีนักเรียนมาจากทุกตำบลในอำเภอ ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วง รวมทั้งโรงเรียนรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ มีนักเรียนจำนวนมาก จำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนมากกว่า 30 คนต่อชั้นเรียน หากต้องจัดการเรียนแบบ ON-SITE กันจริงๆ ก็น่าเป็นห่วง

ยังพอมีเวลากับการตัดสินใจที่ชัดเจน จาก รมว.ศึกษาธิการ แบบฟันธงกันชัดๆ ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจ เพราะตอนนี้หลายหน่วยงานสับสน หวาดระแวง ไม่อยากรับผิดชอบ และกระแสส่วนใหญ่จากผู้ปกครอง ยังไม่ต้องการให้เปิดเรียน โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยที่นักเรียนยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้

เหมือนว่า ผู้มีอำนาจ จะเล่นกับกระแสมากกว่าความเป็นจริง ข้อมูลที่ท่านได้รับต่างกับข้อมูลในพื้นที่ ราวฟ้ากับเหว มีอะไรบังตา รมว.ศึกษาธิการ ไว้หรือเปล่า หรือมีใครกำลังหลอกท่านเพื่อผลประโยชน์ มีเวลาว่างอยากให้ท่านแอบหลบข้าราชการรอบๆ ตัวท่าน มารับรู้ข้อมูลที่แท้จริงที่โรงเรียนในต่างจังหวัดบ้าง เพราะท่านเน้นย้ำบ่อยๆ ว่า ท่านเป็นเด็กต่างจังหวัด

แม้กระทั้งเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ท่านก็ชื่นชมและติดตามเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมนำตัวเลขมาอ้างว่า ครู กทม. ร้อยละ 70 ได้รับวัคซีนแล้ว  อย่าลืมว่ากทม.ไม่ใช่ประเทศไทย ที่ต่างจังหวัดครูทุกคนตั้งตารอวัคซีนจากท่าน เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน นี้ ‘ครูต่างจังหวัดยังไม่มีแม้แต่คิวในการฉีดวัคซีน’

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ