Lifestyle

นศ. ICT ม.มหิดล คิดค้น AI  ชี้วัดสังคมออนไลน์ เพื่อผลักดันสู่นโยบายสุขภาวะทางจิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นศ. ICT ม.มหิดล คิดค้น AI  ชี้วัดสังคมออนไลน์ เพื่อผลักดันสู่นโยบายสุขภาวะทางจิต

(วันที่ 28 พฤษภาคม) ของทุกปี กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง 1 ในสุขบัญญัติ 10 ประการ คือ การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ เมื่อเกิดวิกฤติเกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือวิกฤติใดๆ ในปัจจุบันเราจะสามารถรู้ได้ทันทีว่าผู้คนในสังคมมีความเครียด หรือวิตกกังวลมากเพียงใด ในทันทีที่ได้เข้าไปในสังคมออนไลน์ เพียงพิมพ์คำที่ต้องการลงในช่องค้นหา 

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ ทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย "น้องเต้" นายกฤติน ชาตรีนันท์ "น้องนนต์" นายอนนต์ กังพานิช และ "น้องพู" นายธนวินท์ วิจิตร ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวงศ์ ทั่วรอบ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้นำมาประยุกต์ใช้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน (PSIMILAN) : ระบบประมวลผลและแสดงข้อมูลผลกระทบทางจิตวิทยาและสุขภาพจิตระดับประชากร โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่" ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 (NSC 2021) หมวดโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application) จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อเร็วๆ นี้

นศ. ICT ม.มหิดล คิดค้น AI  ชี้วัดสังคมออนไลน์ เพื่อผลักดันสู่นโยบายสุขภาวะทางจิต

นศ. ICT ม.มหิดล คิดค้น AI  ชี้วัดสังคมออนไลน์ เพื่อผลักดันสู่นโยบายสุขภาวะทางจิต

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะฯ ได้มีนโยบายมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำความรู้ทางด้าน ICT ที่เรียนมาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ครอบคลุมสูงกว่าการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป โดยจะมีอัลกอริทึมแบบจำลองเชิงลึกที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างคล้ายสมองของมนุษย์ในการช่วยวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตอบโจทย์สังคม หรือผลักดันสู่การวางแผนจัดทำนโยบาย (policy maker) ต่อไป โดยคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมุ่งมั่นเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ และผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติต่อไป

นศ. ICT ม.มหิดล คิดค้น AI  ชี้วัดสังคมออนไลน์ เพื่อผลักดันสู่นโยบายสุขภาวะทางจิต

"น้องเต้" นายกฤติน ชาตรีนันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าทีมนักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน" กล่าวว่า ชื่อของโปรแกรมมาจาก PSIMILAN ซึ่งเป็นตัวย่อของชื่อผลงาน "A data processing and visualization system for PSychological IMpact In mental health using LArge-scale social Networks" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ AI เพื่อประมวลผลสื่อสังคมออนไลน์ภาษาไทยและแสดงข้อมูลผลกระทบทางจิตวิทยาและสุขภาพจิตระดับประชากรในประเทศไทย

สามารถใช้งานโดยการเพิ่มนโยบายที่ต้องการศึกษาเข้าไปในระบบ แล้วโปรแกรมจะประมวลผลด้วย BERT และ LaBERT ซึ่งเป็น AI ประเภทการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ที่ล้ำสมัยสำหรับประมวลผลภาษา โดยใช้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยโปรแกรมจะตรวจจับภาษาไทยซึ่งเป็นคำที่แสดงถึงภาวะซึมเศร้า หรือความคิดฆ่าตัวตาย อาทิ เครียด เศร้า หดหู่ อยากตาย ฯลฯ 

จากนั้นโปรแกรม "สิมิลัน" จะแสดงผลออกมาเป็นกราฟแสดงความถี่ของข้อความที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับนโยบายสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงสุขภาวะทางจิต สรุปผลแยกแยะในเชิงลึก 4 ด้าน ได้แก่ อารมณ์ ภาวะซึมเศร้า ความรู้สึก และความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งสามารถดูได้ทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี นอกจากนี้ยังสามารถดูสรุปผลที่เป็นความรู้สึกในทางบวกและลบ ผ่านทางเว็บแอปพลิเคชันได้อีกด้วย

"น้องนนต์" นายอนนต์ กังพานิช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมในฐานะสมาชิกทีมนักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน" ว่า ข้อดีของการใช้ระบบประมวลผลสุขภาวะทางจิตโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้แบบเรียลไทม์ หรือในทันที แทนที่จะต้องรอการสรุปผลรายงานประจำปีอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบบสามารถแสดง trend หรือแนวโน้มความสนใจของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ ได้ตามจริง 

ในขณะที่ "น้องพู" นายธนวินท์ วิจิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งสมาชิกของทีมนักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน" ได้กล่าวเพิ่มเติมถึง Target Users หรือ กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย นอกจากจะได้แก่ ผู้วางแผนจัดทำนโยบาย (policy makers) แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาสุขภาวะทางจิต และนักวิจัยทางการแพทย์ และสาธารณสุขโดยทั่วไปที่จะใช้เป็นแพลทฟอร์มต่อยอดเพื่อการทำนายพยากรณ์ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ต่อไปอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวงศ์ ทั่วรอบ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์และสังคม กล่าวว่า ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์นั้นถือเป็น Big Data ที่สามารถสกัดข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณประโยชน์ได้มาก แต่ยังมีการนำไปใช้งานน้อยในประเทศไทย โดยโปรแกรม "สิมิลัน" ที่ทีมนักศึกษาของคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาขึ้นนี้ อาจประยุกต์ใช้กับช่วงวิกฤติ COVID-19 เพื่อดูแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในระดับชุมชนได้อย่างเรียลไทม์ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังต่อไปได้อีกด้วย ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาทีม "สิมิลัน"  ผู้ทำหน้าที่ Inspire &
Facilitate หรือสร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์พัฒนาโปรแกรม AI เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาวะทางจิตของประชาชนนี้ รู้สึกภาคภูมิใจที่นักศึกษาได้ยึดผลประโยชน์ของสังคมไทยเป็นหลัก และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนชาวไทยได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ https://mahidol.ac.th/

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ