Lifestyle

กระทรวงศึกษาฯ ไฟเขียวให้ "สภานักเรียน" เปิดเวทีรับฟังความเห็นการเมือง ถึง 15 ก.ย.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รมว.กระทรวงศึกษาฯ ไฟเขียวให้ "สภานักเรียน" เปิดเวทีรับฟังความเห็นการเมือง ถึง 15 ก.ย.2563 ชี้ไม่ก้าวก่ายให้อำนาจ "ผอ.รร.-ครู" คุย ยันไม่คุกคาม หรือตัด "คะแนน-ทุน"นักเรียน

คืบหน้าหลังนักเรียนออกมาเคลื่อนไหว แสดงสัญญลักษณ์ชู3นิ้ว ผูกโบว์สีขาว เรียกร้องสิทธินานา ตามด้วยเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :  จดหมายเปิดผนึก จาก "ลุงรัชชัยย์ ศรสุวรรณ" ถึงเด็กๆทุกคน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรม สตาร์ คอนเวนชั่น จ.ระยอง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  (รมว.ศธ.) กล่าวผ่านสื่อถึงกระแสข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนภายในพื้นที่ในโรงเรียนว่า การแสดงออกถือเป็นสิทธิของบุคคลอะไรที่สร้างความแตกแยกที่ไม่เหมาะสมก็อยากให้คำนึงถึงจุดนี้

"ถ้าหากเป็นการก้าวร้าว หรือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความแตกแยก ผู้อำนวยการโรงเรียน สามารถเข้าไปพูดคุยได้และตักเตือนได้ ไม่ใช่ว่ามีสิทธิเสรีภาพแล้วจะทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ เพราะเราก็เปิดสถานที่ให้มีการพูดคุยกันแล้ว และมีการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางสภานักเรียน มีกรอบเวลาที่ชัดเจนให้พูดคุยตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่15ก.ย.2563 " รมว.ศธ. กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ทุกคน จะได้แสดงความคิดเห็นจากนั้นจะรวบรวมมาเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ จากนั้นจะนำประเด็นที่หลักที่เป็นไฮไลท์ของนักเรียนมาจัดลำดับโดยดูความต้องการของนักเรียนส่วนใหญ่ให้อยู่ในลำดับต้น แล้วมาพิจารณาดูว่าเรื่องใดสามารถแก้ไขได้

"โดยต้องดูความเหมาะสมประกอบกันด้วยแต่เรื่องใดยังไม่ถึงเวลาถ้าทำไปแล้วเกิดผลกระทบในวงกว้างก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจเพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทาง เมื่อรับฟังแล้วนำไปแก้ไขแล้วสื่อสารกลับผมจึงเห็นว่าควรพูดคุยกันโดยสันติวิธีโดยที่ไม่ให้ฝ่ายที่เห็นต่างเกิดความรู้สึกอึดอัดซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะปฏิบัติกันทั่วโลกและเป็นหนึ่งในวิธีที่เยาวชนน่าจะใช้เวทีนี้ในการแสดงออก" รมว.ศึกษา กล่าว

เมื่อถามว่าจะให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.รร.) เป็นผู้จัดระเบียบโดยที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะยังไม่เข้าไปสั่งการอะไรใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการที่ออกไปเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการโรงเรียนบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา "สภานักเรียน" ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็นภายในช่วงเวลาที่วางไว้

เมื่อถามว่ามีข้อร้องเรียนว่ามีการใช้เรื่องการตัดคะแนนและทุนการศึกษามาเป็นเงื่อนไขต่อการแสดงความคิดเห็นและการพูดคุยของนักเรียน นายณัฏฐพล กล่าวว่า “ไม่ และเท่าที่ได้รับฟังมาทุกโรงเรียนก็เปิดรับฟังความคิดเห็นโดยไม่เกี่ยวข้องกับการตักเตือนหรือตักเตือนแต่อย่างใด ซึ่งการพูดคุยในโรงเรียนครูจะดูความเหมาะสมอยู่แล้ว

"ผมมั่นใจจากที่เช็คมาหลายสิบโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูมีแนวทางที่ต่างกันไป บางคนรับฟังแล้วแนะนำให้นักเรียนไปทำกิจการเพิ่มเติมว่าเข้าใจเรื่องที่เรียกร้องจริงหรือไม่ เช่น การเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ให้นักเรียนไปเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ ปี2540 กับ ปี2550 และปี2560 แล้วมาพูดคุยกันว่าความเห็นของนักเรียนแตกต่างกันอย่างไร ถือเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ เพราะบางครั้งนักเรียนก็ไม่รับทราบรายละเอียดของรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันในแต่ละฉบับถือเป็นความร่วมมือของโรงเรียนและนักเรียนหาความรู้ที่แท้จริง"รมว.ศธ. กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวยืนยันว่า จะไม่มีการคุกคามเรื่องคะแนนหรือความรู้สึกที่ทำให้นักเรียนอึดอัด และไม่คิดว่านักเรียนจะอึดอัดถ้ามีเวทีแสดงออกที่ชัดเจนผ่านระบบของโรงเรียนที่มีสภานักเรียน มีผู้อำนวยการ ทั้งนี้หากใครมีข้อมูลว่าสถานศึกษาใดไปดำเนินการในลักษณะไม่เหมาะสมให้แจ้งมาที่กระทรวงได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ