ไลฟ์สไตล์

ถามดังๆ ถึง "นายกฯ" ควรมีผู้แทนข้าราชการครูฯ ในบอร์ด ก.ค.ศ. หรือไม่

ถามดังๆ ถึง "นายกฯ" ควรมีผู้แทนข้าราชการครูฯ ในบอร์ด ก.ค.ศ. หรือไม่

07 ก.ค. 2563

ถามดังๆ ถึง "นายกฯ" ควรมีผู้แทนข้าราชการครูฯ ในบอร์ด ก.ค.ศ. หรือไม่...โดย ไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ  (ศธ.) โดยเฉพาะในเรื่องผู้ที่ต้องใช้อำนาจเกี่ยวกับการศึกษา

คสช. มีคำสั่งที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559

โดยได้ให้เหตุผลว่าการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาค เกิดปัญหาการสั่งการและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพ

ประกอบคำสั่ง คสช. ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งประกาศในวันเดียวกัน โดยให้เหตุผลสอดคล้องกัน อีกทั้งให้สามารถประสานเชื่อมโยงและบูรณาการในเรื่องการศึกษา เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษา

การออกคำสั่งในครั้งนั้น  ท่านดร.สาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดีในปัจจุบัน ท่านปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ท่านมานะ สุดสงวน ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ รวมทั้งผม ได้ไปแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งทั้งสองฉบับนั้น ในรายการสยามไทยอัพเดต ช่อง 13 สยามไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 ว่าจริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร

คำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลในการเปลี่ยนแปลงหลักสำคัญคือเรื่องของการยุบเลิก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มีการโอนอำนาจนี้ไปเป็นอำนาจของ กศจ. ของจังหวัดนั้น ๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ

และมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่ง คสช. ที่ 38/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 ประกาศฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 และต่อมา คสช. มีคำสั่งที่ 1/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560

จนสุดท้าย คสช. ได้มีคำสั่งที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยคำสั่งฉบับนี้ ได้มีการยกเลิกคำสั่งที่ 10/2559, 11/2559, 38/2559 และได้มีการยกเลิกเฉพาะบางข้อในส่วนของคำสั่งที่ 1/2560

เมื่อพิจารณาแล้ว คำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เป็นคำสั่งหลักในการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคในด้านโครงสร้างองค์การ ระบบบริหารจัดการ และงานด้านบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับคำสั่ง คสช.ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ประกาศฯ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 โดยมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาใช้บังคับ ซึ่งเป็นการตัดอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาไม่ให้มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา

ผลเกี่ยวเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านได้ส่งผลกระทบต่อการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครู โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการเรียกบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครู แล้วได้ปฏิบัติงานในโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จังหวัดตาก เป็นเวลา 5 เดือน แต่กลับไม่ได้รับการบรรจุ

โดยผู้ที่ไม่ได้รับการบรรจุคือคุณครูวนาลี ทุนมาก หรือครูแอน กับคุณครูนิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือครูวัลย์ ซึ่งในครั้งนั้นมีการขึ้นบัญชีไว้สองบัญชีคือ บัญชี สพม. 38 ที่ครอบคลุมจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตาก และบัญชี กศจ.สุโขทัย

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ผมในนามประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ และมีตัวแทนจากชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมยื่นหนังสือกับคุณครูทั้งสองท่านต่อท่านเลขาธิการ ก.ค.ศ. ซึ่งมีท่านนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเป็นประธาน ก.ค.ศ. ในขณะนั้น

ต่อมาก็ไม่พบว่าจะมีการหาตำแหน่งว่างใดทดแทน หรือดำเนินการเยียวยาใดให้เท่ากับสิ่งที่เคยได้รับเดิม ทั้งที่มิใช่ความผิดพลาดของคุณครูทั้งสองท่าน แต่คุณครูทั้งสองท่านกลับต้องเรียกหาการคุ้มครองสิทธิของตนด้วยการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ผมได้ไปยื่นหนังสือที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อขอให้ท่านณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและในฐานะประธาน ก.ค.ศ. ได้ช่วยติดตามแก้ไข แต่เรื่องก็ไม่ปรากฏสิ่งใด ๆ ขึ้นมา และในการฟ้องคดี ณ ขณะนี้ ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดในเรื่องนี้

คำสั่ง คสช. ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ความในข้อ 1 ให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการใน ก.ค.ศ. ตามมาตรา 7 (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งกรรมการใน ก.ค.ศ.

เมื่อพิจารณาเรื่องราวเหตุการณ์แล้ว ถ้าหากว่ากรรมการใน (5) ตามมาตราและพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจำนวนสิบสองคนยังคงอยู่ การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคล ก็อาจคงคลี่คลายและง่ายขึ้น คงได้เสนอแนะข้อมูลสภาพปัญหาการบริหารงานต่อผู้มีอำนาจได้อย่างครบถ้วน

เนื่องจากผู้แทนข้าราชการครู เป็นผู้ที่ชอบพูดความจริง เพราะการพูดความจริงมิได้มีผลกระทบต่อตำแหน่งใด ๆ ของตน และจะรับทราบถึงข้อมูลสภาพปัญหาจากโรงเรียนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นผู้ที่เข้าถึงข้อมูลสภาพปัญหาในชั้นปฐมภูมิ โดยไม่มีการปรับแต่งใด ๆ และถ้าหากจะพิจารณาแล้ว ก็มิใช่ว่าปัญหาการบริหารงานด้านการศึกษาจักมีแค่เหตุการณ์ของคุณครูทั้งสองท่านที่มิได้รับการบรรจุเท่านั้น ยังคงมีปัญหาอีกมากมายให้ได้รับการแก้ไขปัญหาต่อไป

บทเรียนจากการเปลี่ยนผ่านจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาในด้านการบริหารงานบุคคลได้ โดยจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่ 16/2560 และคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ได้ จะต้องอาศัยบุคคลที่สามารถรับทราบข้อมูลสภาพปัญหา และมีการนำเสนอข้อมูลฯ ให้ส่วนกลางทราบ

อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นงานด้านการบริหารใด ๆ เพื่อความมีประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพ รวมทั้งให้สามารถประสานเชื่อมโยงและบูรณาการในเรื่องการศึกษา เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกันได้ ต้องให้มีผู้แทนข้าราชการครูฯ กลับมามีส่วนร่วมเช่นเดิม

จากการหารือส่วนตนกับท่านสงกรานต์ จันทร์น้อย อดีตกรรมการผู้แทนข้าราชการครูฯ ใน ก.ค.ศ. ซึ่งสถานะปัจจุบันท่านเป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แห่งหนึ่ง ที่มาจากผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการหารือส่วนตน ท่านเห็นด้วยกับการมีกรรมการผู้แทนข้าราชการครูฯ ใน ก.ค.ศ. เพราะจะช่วยงานบริหารงานบุคคลและช่วยให้การปฏิรูปการศึกษามีความต่อเนื่อง และมีผลสำเร็จได้

อีกทั้งผมเองได้นำเรียนประเด็นนี้เพื่อทราบ ไปทางท่านเลขาธิการพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ทางสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ค.ค.ท.) ที่มีองค์กร สมาคม ชมรมฯ ร่วมอยู่ด้วยอย่างหลากหลาย และนำความเพื่อทราบไปทางคณะกรรมการชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทยแล้ว โดยชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทย มีการรวมกลุ่มทางเฟซบุ๊กซึ่งมีสมาชิกออนไลน์ร่วมหนึ่งแสนกว่าราย

ดังนั้น การมีกรรมการผู้แทนข้าราชการครูฯ ตามมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ยังคงต้องขอให้นำกลับมาจัดอยู่ในโครงสร้างเดิม เพราะจะช่วยในการบริหารงานบุคคลและช่วยให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน และเกิดการประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ได้

การปฏิรูปการศึกษาจะต้องรับฟังจากทุกภาคส่วน แต่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือการรับฟังเสียงจากข้าราชการครูฯ โดยการรับและนำเสนอข้อมูลสภาพปัญหาเพื่อการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ

จำเป็นต้องมีกรรมการผู้แทนข้าราชการครูฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย