Lifestyle

บัณฑิตนักปฏิบัติ ร่วมพลิกฟื้นชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มทรส.ส่งบัณฑิตนักปฏิบัติร่วมพลิกฟื้นชุมชน เสนอโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด 137 ตำบล 

นายธีรพล ขุนเมือง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.)อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า โควิด-19(Covid-19) ก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงทั่วโลก ส่งผลต่อกำลังการใช้จ่ายของประชากรในทุกภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จาการส่งออก การท่องเที่ยว มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ดังนั้นกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยามนี้ จึงมีความจำเป็นและสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ “เศรษฐกิจฐานราก” แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ประชากรในกลุ่มนี้ทั้ง เกษตรกร แรงงานทั่วไป เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและไม่มั่นคง โดยในปี 2560 มีประชากรที่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรมและแรงงานทั่วไปคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 55.5 และอาชีพอิสระร้อยละ 35 ของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้น้อยที่สุด

ปัญหาที่พบคือขาดการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ ที่ดินทำกิน การเข้าถึงแหล่งทุน และประการสำคัญคือ การขาดองค์ความรู้ต่างๆ ในการต่อยอดการผลิต

ดังนั้นการทำงานในพื้นที่จะต้องทำให้รูปแบบโครงข่ายทำงานระหว่างภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคเอกชน โดยเฉพาะ “มหาวิทยาลัย” ซึ่งมีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จะต้องเข้ามามีสวนร่วมอย่างเป็นระบบ

นอกจากองค์ความรู้ที่หลากหลายแล้ว นักศึกษา ซึ่งเป็นคนในชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้อย่างมั่นคงเมื่อจบจากรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชน สร้างความภาคภูมิใจแก่ตนเองด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ซึ่งเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้ให้ความสำคัญการสร้างระบบพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เป็นพิเศษ โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 ได้รับงบประมาณเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้ง โครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP หลายโครงการครอบคลุมหลายพื้นที่

โดยเฉพาะพื้นที่ มทรส. ที่จัดการศึกษาใน 4 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา ศูนย์พระนครศรีอยุธยา วาสุกรี ศูนย์นนทบุรี และศูนย์สุพรรณบุรี รวมทั้งกระจายโครงการลงในจังหวัดใกล้เคียง อาทิ อ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี เป็นต้น 

นอกเหนือจากโครงการข้างต้นแล้ว มทรส. ยังได้เสนอโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด 137 ตำบล เพื่อนำองค์ความรู้/นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ให้มีคุณภาพก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชนด้วย

โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างจริงจัง เปลี่ยนการเรียนรู้แบบทฤษฏีในห้องเรียน มาเป็นการฝึกฝนประสบการณ์ ผสมผสานการทำงานจริง แก้ปัญหาจริง มีความพร้อมในการก้าวสู่การทำงานที่มั่นคง ดังอัตลักษณ์นักศึกษาของ มทรส. ที่กำหนดไว้ว่า “บัณฑิตนักปฏิบัติที่เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน”

 เชื่อมั่นเหลือเกินว่า “มหาวิทยาลัย” จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ

      บัณฑิตนักปฏิบัติ ร่วมพลิกฟื้นชุมชน

      บัณฑิตนักปฏิบัติ ร่วมพลิกฟื้นชุมชน

       บัณฑิตนักปฏิบัติ ร่วมพลิกฟื้นชุมชน

        บัณฑิตนักปฏิบัติ ร่วมพลิกฟื้นชุมชน

      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ