Lifestyle

กยศ.เตรียม 34,000 ล้าน เพื่อ นร.-นศ.กู้ปี63 ปรับเกณฑ์รายได้เป็น 3.6 แสนต่อปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กยศ. ปรับคุณสมบัติผู้กู้ เพิ่มเกณฑ์รายได้ครอบครัวเป็น 3.6 แสนบาทต่อปี พร้อมเพิ่มค่าครองชีพเดือนละ 600 บาท เผยปีการศึกษา 2563 เตรียมงบฯไว้ 34,000 ล้านบาท คาดมีนร.,นศ.จะขอกู้ 590,000 ราย

 

เผยวันที่ 29 เมษายน 2563 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและค่าใช้จ่าย ในการดำรงชีพของประชาชนจำนวนมาก

อ่านข่าว :   "กยศ."ออก8มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืม"ลด-พัก-ผ่อนผันชำระหนี้"ฝ่าวิกฤติโควิด-19 

 

"กองทุนขอยืนยันว่าผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะไม่มีเงินส่งให้ลูกหลานได้เรียน เนื่องจากกองทุนมีเงินเพียงพอให้ทุกคนได้กู้ยืมเรียนอย่างแน่นอน" ผู้จัดการ กยศ. กล่าว

โดยในปีการศึกษา 2563 กองทุนได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ คือ จากเดิมรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี เป็นไม่เกิน 360,000 บาท/ปี

อีกทั้ง กองทุนได้มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกรายละ 600 บาท/เดือน

สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังมองหาโอกาสทางการศึกษาเพื่อต่อยอดสู่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก โดยเฉพาะสาขาวิชาที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมที่เรียนระหว่างปีการศึกษา 2562-2566 เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี

สำหรับผู้กู้ยืมระดับปริญญาตรี จะได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30 สำหรับผู้กู้ยืมระดับอาชีวศึกษา จะได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50 เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมถึงเป็นการป้อนกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพที่ยังขาดแคลนสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์

8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

9) อุตสาหกรรมดิจิทัล

10) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร

ส่วน 3 โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1) อุตสาหกรรมระบบราง

2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี

3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ทั้งนี้ กองทุนได้เตรียมงบประมาณให้กู้ยืมจำนวนประมาณ 34,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่คาดว่าจะกู้ยืมในปีนี้จำนวน 590,000 ราย ซึ่งเงินที่ใช้ในการให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นเงินที่ได้รับชำระคืนจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

และขณะนี้ กองทุนได้เปิดระบบ e-Studentloan เพื่อให้นักเรียน นักศึกษายื่นแบบคำขอกู้ยืมล่วงหน้าแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th หรือสอบถามได้ที่ Line@กยศ. หรือโทร. 0 2016 4888

ที่มาข้อมูล : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ