Lifestyle

อสม.'หมอประจำบ้าน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

20 มีนาคมของทุกปี รัฐบาลกำหนดเป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติ อสม. ที่เสียสละ ทำงานดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยปี2563 สบส.ได้มอบรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติให้แก่ ไพฑูรย์ ออมอด ในสาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ 

          วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติ อสม.ที่มีจิตอาสา เสียสละ ทำงานดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้าน เผยแพร่ข่าวสารและเชื่อมการทำงานระหว่างสถานบริการสาธารณสุขและคนในชุมชน ขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในระดับปฐมภูมิสัมฤทธิ์ผล ​ในปี 2563 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้มอบรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ ให้แก่ ไพฑูรย์ ออมอด อสม.ประจำหมู่ 2 ตำบลเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ในสาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ 
 

          กว่าจะมาถึงวันนี้ชายวัย 80 ปีผู้นี้ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานจิตอาสาด้านสาธารณสุขกว่า 40 ปี เริ่มจากการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสาธารณสุข หรือ ผสส. เพื่อกระจายข่าวสารให้ชาวบ้านรู้ความเคลื่อนไหวของวงการแพทย์เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคท้องร่วงระบาดหนัก จึงผันตัวเข้ามาทำงาน อสม. เพื่อช่วยหมออนามัย แจกจ่ายยาให้ผู้ป่วย ขณะนั้นยังไม่มีเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ ทำด้วยจิตสาธารณะ มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะมองว่ายามเจ็บไข้ได้ป่วยทุกคนย่อมมีความทุกข์ใจและร้อนใจ

  ​      ไพฑูรย์ เป็นหมอยาประจำหมู่บ้าน เป็น อสม.รุ่นแรกของประเทศไทย เมื่อ 40 ปีก่อนการสาธารณสุขและการคมนาคมยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้านเท่าที่ควร คนในสมัยนั้นยามเจ็บไข้ได้ป่วยต้องนั่งเกวียนไปหาหมอในตัวเมืองไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสารด้านวิวัฒนาการทางการแพทย์เท่าที่ควร

อสม.'หมอประจำบ้าน'

ไพฑูรย์ ออมอด

        รวมถึงการดูแลด้านสุขอนามัยก็ยังไม่ถูกสุขลักษณะ เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคท้องร่วงระบาดหนักทำให้คนในหมู่บ้านเจ็บป่วยจำนวนมาก จุดประกายให้อยากเข้ามาทำงานด้านสาธารณสุข โดยเริ่มผันตัวจากการเป็น ผสส. มาเป็น อสม.เต็มตัว เพื่อช่วยกระจายข่าวสารและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างคนในชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

 

 


        พร้อมเปิดบ้านเป็นศูนย์แจกจ่ายยาให้ผู้ป่วยโรคท้องร่วงในขณะนั้น​และเพาะพันธุ์สมุนไพรหายากมากกว่า 20 ชนิด บนพื้นที่ 18 ไร่ เพื่อนำมาปรุงยาตาม “คัมภีร์ไพฑูรย์” ซึ่งเป็นสูตรตำรับยาสมุนไพรที่เคยร่ำเรียนมาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ตัสฺสทตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ โดยนำมาประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง เพื่อรักษาอาการปวดตามข้อกระดูกต่างๆ โดยใช้หลักการ “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย ไม่ปล่อยให้คนสูบบุหรี่ลอยนวล” 

อสม.'หมอประจำบ้าน'


       คิดค้นยาลูกกลอนเลิกบุหรี่ โดยนำสมุนไพรจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อาทิ ไพลดำ ไพลเหลือง ขมิ้นดำ ขมิ้นเหลือง น้ำผึ้ง และหญ้าดอกขาว มาเป็นส่วนผสม เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนจนมีผู้เลิกบุหรี่ถึง 62 คน ทำให้ชุมชนกลายเป็นพื้นที่สีขาว เมื่อส่งผลงานให้ อสม.จังหวัดร้อยเอ็ด ชักชวนคนเลิกบุหรี่ตามโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน จนได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ส่งผลให้นายไพฑูรย์ 
ผ่านการคัดเลือกเป็น อสม.ดีเด่น ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค จนถึงระดับชาติในครั้งนี้

อสม.'หมอประจำบ้าน'


         เช่นเดียวกับ โสรญา ช่วยชะนะ อสม. หมู่ 12 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ผู้ได้รับรางวัลสาขาดังกล่าวที่ใช้วิธีคัดแยกขยะเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อโรค เป็นต้นแบบ คนในชุมชนจะเกิดความตระหนักรู้และนำไปปฏิบัติตาม ส่งผลให้ปัจจุบันหมู่ 12 ต.น้ำผุด กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบคัดขยะ การคัดขยะนอกจากจะสร้างสุขอนามัยที่ดีแล้ว ยังทราบถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้มีโรคประจำตัวในแต่ละครัวเรือน เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะชอบดื่มน้ำอัดลมเป็นพิเศษ จึงทำให้อาการไม่ดีขึ้น ในฐานะ อสม.ที่ห่วงใยสุขภาพของคนในชุมชนจึงเข้าไปช่วยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทำให้ทุกวันนี้ผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวสุขภาพดีขึ้นจนปัจจุบันกลายเป็นผู้ป่วยต้นแบบ ให้ผู้ป่วยอื่นๆ ปฏิบัติตาม
        เรื่องโควิด-19 ก็เช่นกัน วิธีที่ป้องกันง่ายที่สุดที่ทุกคนในชุมชนช่วยกันได้ เมื่อตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คือ รักษาความสะอาด พร้อมช่วยเป็นหูเป็นตา คัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้ามาในชุมชน หากเป็นนักท่องเที่ยวต้องสอบถามประวัติการเดินทางให้ชัดเจน ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่นประมาณ 2 เมตร พร้อมสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และต้องวัดอุณหภูมิร่างกายด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากคนภายนอกสู่คนภายในชุมชน การเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ การตรวจคัดกรองหากลุ่มผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

 

อสม.'หมอประจำบ้าน'

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

        นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน มีหน้าที่คอยให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรคง่ายๆ ช่วยงาน รพ.สต. ดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการที่บ้าน ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภค
        “19 สบส.ได้มอบหมายให้ อสม.ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านทุก โดยเบื้องต้นจะแนะนำวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเบื้องต้น โดยการรักษาระยะห่างจากผู้ที่มีอาการป่วย ไอ หรือจาม นอกจากนี้ยังได้แจกหน้ากากอนามัยและเจลทำความสะอาดมือที่ทำมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านพร้อมระดมคนในหมู่บ้านร่วมเย็บหน้ากากอนามัยจำนวน 8,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน”

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ