Lifestyle

เปิด 3 โมเดลเรียนออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียจัดตารางเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

3 มหาวิทยาลัยดัง จัดการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยโมเดลเรียนออนไลน์ ปรับรูปแบบให้นิสิตนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรตามความเหมาะสม

          เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ ต้องงดการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันการระบาด การควบคุมการแพร่กระจายของ เชื้อโรคโควิด-19 และลดการชุมนุมรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษา โดยนอกจากมาตรการด้านสุขอนามัยการระบาดโรคโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการแล้ว ยังมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้นิสิตนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรตามความเหมาะสม เช่น จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือการมอบหมายงาน การประมวลผล และการสอบ กิจกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเข้าชั้นเรียน

          ดร.ภัทรชาต โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนออนไลน์และการประเมินผลนั้น ตั้งแต่ภาคปลายปีการศึกษา 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คณะทำงานจัดระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและการประชุมทางไกลเพื่อรองรับสถานการณ์ไม่ปกติ และศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักการการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ วิธีการและเครื่องมือการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้คณาจารย์ใช้ประกอบการปรับวิธีการจัดการเรียนการสอน

เปิด 3 โมเดลเรียนออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียจัดตารางเรียน

ดร.ภัทรชาต โกมลกิติ

จุฬาฯ ใช้ Echo 360 ALP

          ปัจจุบันนี้จุฬาฯ มีการนำอุปกรณ์ Echo 360 ALP ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบันทึกการบรรยายของอาจารย์และนำไปเผยแพร่ผ่านเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้นิสิตสามารถศึกษาด้วยตนเองได้หลายช่องทาง เช่นระบบ Blackboard, myCourseville, Google Classroom และเว็บไซต์อื่นๆ สื่อการสอนที่บันทึกไว้นี้สามารถนำมาใช้สำหรับให้นิสิตศึกษาด้วยตนเอง ก่อนเข้าห้องเรียนเป็นการประหยัดเวลาเพื่อให้อาจารย์ใช้เวลาในห้องเรียนในการอภิปราย เนื้อหาที่ยากและซับซ้อน ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และใช้ในการศึกษา ทบทวนด้วยตนเองภายหลังจากที่เรียน

 

          “มีการทำความเข้าใจกับคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตในการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่นิสิตไม่มีปัญหาและพร้อมเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนออนไลน์ แต่อาจารย์ต้องปรับการเรียนการสอนโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ของนิสิตเป็นหลัก ว่าเรียนในรายวิชาดังกล่าวแล้วเกิดองค์ความรู้อะไร ต้องวิเคราะห์กลุ่มผู้เรียน คลาสเรียนว่าเป็นคลาสเล็ก คลาสใหญ่ ลักษณะกลุ่มผู้เรียน เพราะนอกจากรายวิชาที่แตกต่างกัน รูปแบบการเรียนการสอนต่างกันด้วย ถ้าคลาสเรียนเล็กจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ง่าย แต่ถ้าคลาสเรียนใหญ่มีเด็กเรียน 300-400 คน ต้องใช้การเรียนอีกรูปแบบหนึ่งให้เหมาะสมและต้องดูความพร้อมของผู้เรียนด้วย เช่น อยู่ในหอพักมีอินเทอร์เน็ตใช้ได้หรือไม่” ดร.ภัทรชาต กล่าว

 

          ทั้งนี้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ต้องไม่เป็นภาระเพิ่มทั้งในส่วนของผู้เรียนและคณาจารย์ ดร.ภัทรชาต กล่าวต่อไปว่าการเรียนออนไลน์สามารถทำได้ทั้งตามระบบที่มหาวิทยาลัยวางไว้ หรือเครื่องมือโซเซียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ โดยบางวิชาจำเป็นต้องมีการปรึกษา จัดกลุ่ม มีการบรรยาย ให้ผู้เรียนตอบคำถาม หรือมีคลิปวิดีโอที่จะทำให้ผู้เรียนได้คิดต่อ มีกิจกรรมให้เขาทำเพื่อให้ความรู้ก่อเกิดเช่นเดียวกับการสอบ การประเมินผลที่ไม่ใช่การจัดสอบในชั้นเรียน แต่เป็นการให้นิสิตทำรายงาน หรือเก็บสะสมคะแนน แต่ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพยายามช่วยเหลือนิสิต และคณาจารย์ทุกคนให้ไม่เป็นภาระเพิ่มในการเรียนรู้

เปิด 3 โมเดลเรียนออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียจัดตารางเรียน

มธ.จัด Distance Learning

          เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มีการจัดระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน Distance Learning รองรับการงดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยระบบ INTERACTIVE REAL-TIME LEARNING โดยมี Microsoft Team และระบบไลน์ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถใช้งานได้ง่าย ถูกต้องตามลิขสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์เนื้อหาการสอนไม่สาธารณะจึงไม่เป็นการละเมิดกฎหมายหากนำสิ่งที่มีลิขสิทธิ์คนอื่นมาใช้สอนแบบเปิด

           รวมถึงมีระบบ E-LEARNING(SELF-LEARNING) ซึ่งมีระบบย่อย Gennext Academy/TU-Moodle สามารถรองรับผู้เรียนได้มากในเวลาเดียวกัน เพราะ traffic จะไปอยู่ที่ video server เช่น YouTube หรือ vimeo ที่อาจารย์เลือก upload วิดีโอเก็บไว้ จึงไม่มีปัญหาด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตพร้อมๆ กัน

เปิด 3 โมเดลเรียนออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียจัดตารางเรียน

มก.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสอน

          ส่วนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ได้จัดเตรียมเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเรียนการสอน การสอบ การประชุม และกิจกรรมต่างๆ โดยหน่วยงานและผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ตามวัตถุประสงค์และความถนัด อย่าง การเรียนการสอน/การสอบ จะมีการใช้ Google Classroom Platform for LMS 

          สำหรับการเรียนการสอนเป็นบริการสำหรับ Google Apps for Education การออกแบบสร้างห้องเรียนออนไลน์ เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาและทบทวนบทเรียนตามประมวลการสอน (Material, Assignment, Quiz, Discussion, Project Based Learning) รองรับการใช้งานที่หลากหลายบน Desktop , IOS และ Android

          รวมถึงมี eduFarm ระบบสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ eduFarm ฟาร์ม (เรียน)รู้ มก. และLOOM Video Recording เป็นการสร้างสื่อการสอนในรูปแบบ Video Clip (สไลด์ และเสียงบรรยาย) บันทึกลง cloud ของ LOOM โดยอัตโนมัติ ง่ายต่อการแชร์อาจารย์สามารถตรวจสอบได้ว่ามีนิสิตคนไหนเข้าชมวิดีโอบ้าง

          ขณะที่การประชุม/การสอบ จะมีระบบ TeleConference สำหรับการประชุมและการสอบ ที่ปลายทางมีระบบ VDO Conference มาตรฐาน สามารถใช้บริการได้ที่ สำนักบริการบริการคอมพิวเตอร์ ชั้น 9 จำนวน 2 ห้อง ให้บริการเวลาราชการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย KU Cisco Webex Meetings สำหรับการประชุม การเรียนการสอน มีคุณสมบัติดังนี้ รองรับการประชุมได้สูงสุดถึง 100 คน โดยไม่จำกัดระยะเวลาการใช้งาน มีระบบบันทึกการประชุม รองรับวิดีโอระดับ HD มีฟังก์ชันในการ Chat การแชร์หน้าจอ รูปภาพ ไฟล์ และข้อความอย่างไม่จำกัด เป็นต้น

เปิด 3 โมเดลเรียนออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียจัดตารางเรียน

          ทุกระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถาบันอุดมศึกษาล้วนเป็นระบบที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดวางไว้ทั้งรูปแบบของการสร้างโดยมหาวิทยาลัยเอง หรือความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานต่างๆ รวมถึงมีการใช้โซเซียลมีเดียเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนให้เข้าถึง ง่าย สะดวกทั้งนิสิตนักศึกษา และคณาจารย์ โดยนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ต้องได้รับทั้งองค์ความรู้ ไม่เป็นการเพิ่มภาระในการเรียนการสอน และการสอบของทุกคน

เรื่องโดย ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -รูปกล่อง 3 ม.ดังสอนออนไลน์ 

เปิด 3 โมเดลเรียนออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียจัดตารางเรียน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ