Lifestyle

ระบำโบราณ - นาฏศิลป์ร่วมสมัย เชื่อมต่อศิลปะด้วยจิตวิญญาน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระบำโบราณ - นาฏศิลป์ร่วมสมัย เชื่อมต่อศิลปะด้วยจิตวิญญาน  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 

 

          ศิลปวัฒนธรรมของกัมพูชา ซึ่งปรากฏอยู่ในปราสาทนครวัด ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะภาพจำของนางอัปสรา ที่ปรากฏบนแผ่นศิลา นอกจากนี้ระบำโบราณอย่าง “ระบำอัปสรา” รวมถึงระบำโบราณอื่นๆ ของกัมพูชา ยังคงเป็นศิลปะโบราณที่ทรงคุณค่าตราบจนปัจจุบัน

 

 

          ระบำในแบบโบราณมีทั้งหมดกว่า 4,500 ท่า มีความละเอียดอ่อนในการเรียนการสอน คนที่เป็นครูสอนและคนที่เรียนระบำโบราณทุกคนจะต้องมีความพยายามให้มากที่สุด เพราะในการฝึกระบำต้องใช้ทุกส่วนในร่างกายต้องแข็งแรง อ่อนช้อยทุกอิริยาบถ ต้องหัดยิ้มใส่กระจกเพื่อให้เห็นรอยยิ้มของตัวละครแต่ละตัว ที่สำคัญคนที่ออกมารำต้องอายุไม่เกิน 15 ปีเท่านั้น

 

 

ระบำโบราณ - นาฏศิลป์ร่วมสมัย เชื่อมต่อศิลปะด้วยจิตวิญญาน 

 


          แซม สตตะยา ในวัย 53 ปี รองคณบดีคณะศิลปะการออกแบบท่านาฏศิลป์ Royal University of Fine Arts ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีประสบการณ์ด้านระบำโบราณมากว่า 31 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีจิตวิญญานฝังลึกเกี่ยวกับระบำโบราณ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ความงดงามในท่วงท่าร่ายรำ จากในวัง สู่คนรุ่นใหม่ ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา และเทคโนโลยี ความทันสมัยที่คืบคลานเข้ามา


          เขาตัดสินใจเข้าสมัครคัดเลือกเพื่อเป็นนางระบำโบราณตอนอายุ 12  ปี  เพราะอายุยิ่งน้อยการออกแบบท่าให้อ่อนช้อยจะยิ่งง่าย ครูจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการคัดคน โดยดูจากบุคลิกภาพ การวางตัว กิริยามารยาท หน้าตาทั้งหมด  ระบำในแบบโบราณมีทั้งหมดกว่า 4,500 ท่า มีความละเอียดอ่อนมากในการเรียนการสอน 

 

 

ระบำโบราณ - นาฏศิลป์ร่วมสมัย เชื่อมต่อศิลปะด้วยจิตวิญญาน 

 


          ดังนั้นคนที่เป็นครูสอนและคนที่เรียนระบำโบราณทุกคนจะต้องมีความพยายามให้มากที่สุด เพราะในการฝึกระบำต้องใช้ทุกส่วนในร่างกาย ต้องแข็งแรง อ่อนช้อยทุกอิริยาบถ ต้องหัดยิ้มใส่กระจกเพื่อให้เห็นรอยยิ้มของตัวละครแต่ละตัว ว่ามีรอยยิ้มอย่างไรบ้าง สวยหรือไม่ สวยอย่างไร ครูจะพยายามไม่ให้คิดวอกแวก ตั้งสมาธิ จิตนิ่งอยู่กับเพียงระบำเพียงอย่างเดียว


    
          ครูแซม อธิบายว่า สำหรับคนที่ออกมารำต้องอายุไม่เกิน 15 ปีเท่านั้น เพราะเราต้องเยียวยาด้านจิตใจโดยใช้ระบำหลังมีศึกสงคราม ดังนั้นต้องคัดคนสวย กิริยามารยาทที่ดี ทั้งภายในและภายนอก เพื่อรำบวงสรวง สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเรียนรู้ เรียนอย่างไรก็ไม่จบ เพราะทุกอย่าง ทุกตัวละคร แฝงด้วยความหมาย ไม่ว่าจะนางอัปสรา หรือนางสีดา จะมีความหมายแตกต่างกันไป 

 

 

ระบำโบราณ - นาฏศิลป์ร่วมสมัย เชื่อมต่อศิลปะด้วยจิตวิญญาน 

 


          ยกตัวอย่างเช่น หากรำเป็นนางสีดา ต้องศึกษาก่อนว่านางสีดาอายุเท่าไหร่ เป็นคนอย่างไร ต้องมีความลึกซึ้งในกความเป็นนางสีดาให้มาก เพราะเวลาแสดงเราไม่ใช่แซม สตตะยา แต่คือนางสีดา จิตวิญญานของของเราคือนางสีดาเท่านั้นถึงจะแสดงออกมาได้ดี ใช้อารมณ์และความรู้สึกในการร่ายรำด้วย
 

          ปี 2537  ครูแซม มีโอกาสเรียนระบำกับเจ้าหญิงบุปผาเทวี พระราชธิดาในเจ้านโรดมสีหนุ และเดินทางไปแสดงที่กรุงปารีสอีกด้วย ปัจจุบันถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบำโบราณ และเป็นครูสอนศิลปะการออกแบบท่านาฏศิลป์ ณ Royal University of Fine Arts ประเทศกัมพูชา การต้องรักษาศิลปะโบราณท่ามกลางเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการพัฒนาของนาฏศิลป์ร่วมสมัย กลายเป็นอีกหนึ่งความกังวลว่าจิตวิญญาณที่ครูพยายามอนุรักษ์มาจะถูกกลืนหายไปกับยุคสมัยใหม่


          “ตอนนั้นเราคิดว่าจะเอาความรู้จากครูทั้งหมดเพื่อเป็นครูสอนคนรุ่นใหม่ต่อไป ดังนั้นในฐานะที่เป็นครู หากเด็กมาสมัครจะพยายามให้เขาสมัครมาเป็นคู่เพื่อที่จะเลือกเป็นนางเอก พระเอก องค์ชาย องค์หญิง เป็นต้น โดยผู้ชายจะเลือกลักษณะสูง แก้มตอบ ผอม ดูดี หล่อ ส่วนนางเอก ต้องมีหน้ากลม รูปไข่ สวย กิริยามารยาทดี ท่าทางเหมาะสมกับนางระบำ" 

 

 

ระบำโบราณ - นาฏศิลป์ร่วมสมัย เชื่อมต่อศิลปะด้วยจิตวิญญาน 

 


          ปลูกฝังจิตวิญญาณให้คนรุ่นใหม่
          ครูแซม กล่าวต่อไปว่า เวลาที่สอนเด็ก ต้องสอนกิริยา มารยาท และจิตวิญญาณให้เขาไปด้วย ตอนนี้ประเทศชาติกำลังเจริญก้าวหน้า มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่เราเป็นครูสอนระบำโบราณ ต้องมาต่อสู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างไปกันได้ ดังนั้นจึงต้องสอนเรื่องจิตวิญญาณให้เด็กรู้จักตัวเอง ต้องศึกษาตนเองให้หยั่งลึก รู้จักชนชาติของตนเอง ว่ารู้เรียนเพื่ออะไร และการศึกษาวัฒนธรรมอาเซียน เราจะศึกษาอะไรจากเขา และตัวตนของเราตั้งนิ่งให้มั่นว่าเราคือวัฒนธรรมแบบเรา ต้องทำให้ดีที่สุด


          “ปี 2558 มีโอกาสเรียนนาฏศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) ที่ประเทศอินโดนีเซีย เอาความรู้ที่ได้มาคิดท่าได้อีกมากมายเพื่อให้นักเรียนได้เรียน ทั้งแบบโบราณและสมัยใหม่ ครูสมัยก่อนจะเอาแบบโบราณอย่างเดียว แต่ครูสมัยใหม่จะเน้นท่วงท่า ลีลา แบบใหม่ ดังนั้นในความรู้สึกของเราอยู่ตรงกลางดีกว่า อย่าลึกเกินไป หรือซ้ายขวา จะทำให้มีปัญหากัน ดังนั้นครูที่สอนรำทุกคนต้องพยายามมองให้เป็นกลางให้มากที่สุด”


          ส่วนความกังวลเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่อาจถูกยุคสมัยกลืนหายไป ครูแซมยอมรับว่าเป็นห่วงและกังวลมากว่าวันหนึ่งระบำโบราณจะหายไป ในความรู้สึกคิดว่าไม่ว่าจะครูไทยหรือครูกัมพูชา มีความเป็นห่วงเรื่องนี้มากๆ ทุกวันนี้พยายามออกสื่อของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้ช่วยอนุรักษ์ โดยการผลักดันให้เด็กๆ สนใจระบำโบราณมากขึ้น และมหาวิทยาลัยแห่งชาติ นอกจากจะเรียนจันทร์–ศุกร์แล้ว ยังเปิดสอนพิเศษให้คนภายนอกที่สนใจอีกด้วย


          “ชีวิตคนก็เหมือนศิลปะ บางคนคิดว่าอยู่ห่างไกลกับชีวิต แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างในชีวิตอยู่ได้ด้วยศิลปะ บางครั้งอาจจะทำให้เราทุกข์ บางครั้งอาจจะทำให้เราร้องไห้ บางครั้งทำให้เรามีความสุข แต่มันคือวัฒนธรรมที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตของเราได้” ครูแซม กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ