Lifestyle

เทียบเคียง ซาร์ส-โคโรนา2019 ไวรัสร่วมตระกูลที่อาจ(ไม่)ต่าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เทียบเคียง ซาร์ส-โคโรนา2019 ไวรัสร่วมตระกูลที่อาจ(ไม่)ต่าง โดย... พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] -

 

  
          ยังไม่อาจทราบได้ว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่ก่อโรคปอดอักเสบ ซึ่งระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มในประเทศอื่นๆ สามารถก่อโรคในคนรุนแรงแค่ไหน ทราบเพียงว่าสามารถติดจากคนสู่คนได้ และเป็นไวรัสตระกูลเดียวกับโรคซาร์สที่เคยระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน มีอัตราเสียชีวิต 10% และต้นตอจากมณฑลกวางตุ้งของจีน

 

 

          สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไวรัสในตระกูลโคโรนา กลุ่มเบต้าโค บี (BetaCov B) เช่นเดียวกัน แต่คนละกิ่ง จึงเป็นสายพันธุ์ย่อยคนละตัวกัน ซึ่งไวรัสตระกูลโคโรนา แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อัลฟา (AlphaCoV) เบต้าโค เอ (BetaCov A) เบต้าโค บี (BetaCov B) เบต้าโค ซี (BetaCov C) และเบต้าโค ดี (BetaCov D) ทั้งนี้โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากที่สุดที่ประมาณ 89% เป็นค้างคาวมงกุฎซึ่งพบในจีน 2 สปีชีส์ คือค้างคาวเกือกม้าของจีน (Rhinolophus sinicus) ไม่พบในไทย และค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast) พบในไทยด้วย


          ขณะที่ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ บอกว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลามีการแบ่งตัว โดยเฉพาะเชื้ออาร์เอ็นเอ สายเดี่ยว แต่การกลายพันธุ์นั้นไม่ใช่ว่าจะทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นเท่านั้น อาจกลายพันธุ์แล้วทำให้เชื้อมีความดุร้ายน้อยลงก็ได้ ซึ่งจะตอบได้ก็ต่อเมื่อนำเชื้อไปทดสอบในสัตว์ทดลอง เช่น หนูตะเภา
  

          “การกลายพันธุ์ไม่ได้แปลว่าจะต้องร้ายแรง แต่เชื้อปกติกลายพันธุ์อยู่แล้ว เช่น กลายพันธุ์จากดั้งเดิม 1-2% ไม่มีความรุนแรง ยังก่อโรคเหมือนเดิม แต่ถ้ากลายพันธุ์ไปในระดับหนึ่งซึ่งเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ บางคนระบุว่าไม่น้อยกว่า 5% จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเชื้อ แต่ยังไม่ได้หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องความรุนแรง” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว


          เมื่อเทียบกับซาร์ส รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า สิ่งที่เหมือนกันคือเชื้ออยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าอยู่คนละกิ่ง แต่ต้นตอรากเหง้ามาจากกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดการก่อโรคคล้ายกัน คือทางเดินหายใจ ส่วนจะรุนแรงหรือไม่นั้น เมื่อเชื้อไวรัสอยู่คนละกิ่งอาจจะทำให้มีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล หรือเหมือนกันมากก็ได้ ยังตอบไม่ได้เพราะตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้น โดยจีนเริ่มสังเกตวันที่ 12 ธันวาคม 2562 จนถึงวันนี้ประมาณ 40 วัน จึงเร็วเกินไปที่จะตอบอะไรบางอย่าง

 



          อย่างไรก็ตามเมื่อมองประวัติศาสตร์ย้อนรอยเกี่ยวกับการระบาดของซาร์ส ตอนนั้นกว่าจะรู้อะไรต่างๆ ช้ามากกินเวลาหลายเดือน จนเริ่มมีคนเสียชีวิตจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในวันนี้ไทยและทั่วโลกมีการรับมือดีขึ้น หากถอดบทเรียนจากซาร์สในยุคเมื่อ 17 ปีก่อนที่มีการระบาดของซาร์ส เริ่มพบว่าทำไมปอดบวมและเสียชีวิต ทำไมพยาบาลที่เข้าไปดูแลถึงติดเชื้อปอดบวมและเสียชีวิต พอเริ่มมีการติดมาสู่บุคลากรทางการแพทย์นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เมื่อเทียบกับ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ครั้งนี้ ประเทศไทยมีการตั้งรับเร็วกว่ามาก


          การแพร่ระบาดของซาร์ส จะกระจายออกไปในวงกว้างกว่า โดยมีพื้นที่เริ่มต้นอยู่ที่มณฑลกวางตุ้งตอนใต้ แต่จุดระเบิดอยู่ที่โรงแรมเมโทรโปร ที่ฮ่องกง จากฮ่องกงไปสิงคโปร์ และไปเกือบทั่วโลก 20-30 ประเทศและไปเร็ว แต่การที่โรคแพร่ไปเร็ว เราไม่กังวลเท่ากับโรคมันรุนแรง เพราะทางการแพทย์ไม่มียารักษาจะกังวลมากหากโรครุนแรงจนเอาไม่อยู่


          สำหรับโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ตอนนี้ประเทศไทยมีข้อมูลผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย อาการยังถือว่าเบา ค่อนข้างทำให้เราสบายใจ อย่างไรก็ตามยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าโรคนี้เบาเพราะที่จีนมีผู้ป่วยเสียชีวิตและอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
  

          “สิ่งที่ทางการแพทย์กลัวที่สุดนอกจากโรคแรงแล้ว กลัวว่าบางคนจะกลายเป็นคนที่เรียกว่า “ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super-spreader)” คือผู้ที่มีเชื้อมหาศาลจนกระทั่งสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว


          หากพิจารณาอัตราการเสียชีวิต รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี ให้ข้อมูลว่า โรคซาร์สอยู่ที่ 10% โรคเมอร์ส 30% ไข้หวัดใหญ่ประจำปี 0.01% แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเป็น 0.1% มากกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดา 10 เท่า โรคอีโบล่าระยะแรกของการระบาดอัตราการเสียชีวิตที่ 95% แต่หลังจากที่มีการระบาดในแอฟริกาตะวันตก และมีนักวิทยาศาสตร์เข้าไปให้การช่วยเหลือ อัตราการเสียชีวิตลดลง เหลือประมาณ 50-60% ส่วนไข้หวัดนก หากเป็นเชื้อเอช 5 เอ็น 1 (H5 N1) อัตราการเสียชีวิต 60% ถ้าเป็นเชื้อเอช 7 เอ็น9 (H7 N9) ในจีน ประมาณ 30% ซึ่งเชื้อตัวนี้จีนเอาอยู่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ จากการที่ฉีดวัคซีนในสัตว์ปีก และมีมาตรการล้างตลาดใน 1 เดือนจะปิด 1-2 วันเพื่อล้างตลาด ส่วนโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่ทราบความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตที่แน่ชัด


          สำหรับประเทศไทยได้ประกาศให้โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคซาร์สภายในประเทศ ยกเว้นเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกที่ป่วยด้วยโรคซาร์ส และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย และไม่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม ขณะที่ประเทศจีนเคยมีโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 349 รายส่วนโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่มีการประกาศเช่นโรคซาร์ส เนื่องจากองค์การอนามัยโลก หรือฮู ยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และยังต้องรอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับไวรัสใหม่นี้เพิ่มขึ้นอีก


          แม้จะมีข้อมูลไม่ชัดเจนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในบางส่วน แต่ประเทศไทยดำเนินมาตรการระบบเฝ้าระวัง คัดกรองควบคุมโรคเช่นเดียวกับโรคซาร์ส หากมีรายงานผู้ป่วยที่สงสัยจะทำการแยกกัก โดยมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการและทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายทั้งในส่วนกลางและทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ