Lifestyle

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ โดย... ทีมข่าวคุณภาพชีวิต –[email protected]

 


          “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้จัดทำดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” ปี 2562 โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 8,123 คน ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม  2562 – 13 มกราคม 2563 โดยเน้นตัวชี้วัด 30 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อครูไทยทั้งในด้านส่วนตัว ชุมชนและการพัฒนาวิชาชีพตลอดจนการพัฒนาประเทศ ในรอบปี 2562  

 

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

 

          พบว่าประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี 2562 ผ่านทุกตัวชี้วัด ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 6.25 คะแนน แต่ก็ยังแย่กว่าปี 2561 โดยมีเพียงประเด็นเดียวคือ “มีความเป็นผู้นำ” ที่มีคะแนนมากขึ้นกว่าเดิม  


          สรุปได้ว่า “จุดเด่น” ของ “ครูไทย” ในปี 2562 อันดับ 1 มีความมุ่งมั่นในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ 36.31% อันดับ 2 ขยัน อดทน เสียสละ ต้องรับผิดชอบงานหลายๆ อย่าง 21.14% อันดับ 3 ให้การอบรมสั่งสอนที่ดี ไม่ยึดติดความคิดแบบเดิม 17.04% อันดับ 4 การจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายมากขึ้น 13.88% อันดับ 5 มีจิตวิญญาณของความเป็นครู เป็นผู้ให้ความรักความห่วงใย 11.63%


          ส่วน “จุดด้อย” ของ “ครูไทย” ในปี 2562 อันดับ 1 ขาดทักษะด้านเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ 33.12% อันดับ 2 ขาดการควบคุมอารมณ์ ยังคงใช้คำพูดและการลงโทษที่ไม่เหมาะสม 20.00% อันดับ 3 มีปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ 18.52% อันดับ 4 ไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด


          16.90% อันดับ 5 สั่งงาน สั่งการบ้านเยอะ ไม่สอนให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ 11.46% 


          ขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้การค้นคว้าข้อมูลสามารถทำได้อย่างกว้างขวางไม่จำกัดแค่ในหนังสือเรียนเหมือนที่ผ่านมา เพราะเด็กสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารค้นคว้าสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ย่อมส่งผลดีกับเด็กนักเรียนในปัจจุบันมากกว่าในอดีต เพราะทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ที่อยู่ภายนอกห้องเรียนได้อย่างอิสระ รวมทั้งสามารถพัฒนาความรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็วตามโลกโซเชียล และยังสืบค้นข้อมูลได้เองบนอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกว่าการเรียนรู้ไร้พรมแดน 

 

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ



          ด้วยเหตุนี้ ครูในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์หรือสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียน ในยุคศตวรรษที่ 21 แล้วยังจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากเดิมที่เคยสอนจากหนังสือเรียน หรือการยืนสอนหน้าชั้นเรียนมาเป็นการสอนแบบพี่เลี้ยงด้วยการส่งเสริมทักษะให้เด็ก ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่บรรยากาศในชั้นเรียน พร้อมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแก่เด็กผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียนด้วย พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยตนเองได้กระตุ้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด และกล้าแสดงความเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถปรับใช้ได้ในชีวิต พร้อมทั้งสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ กระตุ้นให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผล การสังเคราะห์สิ่งต่างๆ แล้วสร้างเป็นแนวคิดใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กในการเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง

 

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

 


          ที่สำคัญต้องเปลี่ยนครูจากผู้สอนให้เป็นผู้ฟัง เนื่องจากเด็กยุคใหม่เริ่มมีความคิดเห็น หรือแนวคิดที่ต่างออกไป ซึ่งครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราว สิ่งที่ชอบทำ ชอบดู หรือประสบการณ์ที่พบเจอนอกห้องเรียน เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ทำให้รู้จักตัวตนของเด็กมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางในการรับรู้ความชอบของผู้เรียนแต่ละคนได้อีกด้วย


          ครูต้องสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งจากสังคมทั่วไปและสังคมออนไลน์ โดยการเชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไปในบทเรียนเพื่อให้เด็กได้เกิดการคิดต่อยอด และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้


          “การสอนทักษะการใช้ชีวิตถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัวหรือรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงเข้าไปด้วย ในบางวิชาเรียน ครูอาจจะต้องสอดแทรกเหตุการณ์สมมุติที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา มากกว่าการท่องจำทฤษฎีที่มีอยู่ในแบบเรียน เช่น การคิดวิเคราะห์ง่ายๆ จากข่าวสารที่ฟัง หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันสอดแทรกในวิชาสังคม การวิเคราะห์ภาษาระหว่างการใช้ในชีวิตจริงกับการใช้ในโลกออนไลน์ในวิชาภาษาไทย ฯลฯ นอกจากนี้ ครูยังต้องมีทัศนคติเชิงบวกกับเด็กทุกๆ คนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้จักที่จะพัฒนาตนเอง” รักษาการผอ.สมศ.กล่าว

 

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

 


          ปวีณา แช่มช้อย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)  ผู้เชี่ยวชาญด้านการละครเพื่อการเรียนรู้และพิธีกรรมศึกษา หนึ่งในวิทยากรจากเพจก่อการครู กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมเรียกร้องให้ครูทำอะไรหลายอย่าง เรียกร้องให้ครูเป็นยอดมนุษย์ ครูต้องสอนเด็กจำนวนมาก ครูต้องทำได้ตามตัวชี้วัดทั้งหมด และนักเรียนของครูจะต้องประสบความสำเร็จตามที่เขาบอก ที่สำคัญขอให้ครูมีจิตวิญญาณของการเป็นครู โดยที่ไม่มีใครกลับมาดูว่าทำไมครูถึงไม่สามารถทำอย่างนั้น ดังนั้น ครูต้องรู้จักใช้เวทมนตร์ คือความสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่แค่ของครูกับนักเรียน ครูกับครู หรือนักเรียนกับนักเรียนอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ในห้องเรียน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับตัวเองด้วย ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนรู้” ปวีณา กล่าว

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

ปวีณา แช่มช้อย

 


          ครูต้องทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ลื่นไหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนมีความสำคัญ ซึ่งครูสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงการมองเห็นเท่านั้น ต้องดูสายตาผู้เรียนที่เป็นประกาย สนใจครู มีความอินกับเรื่องที่ครูสอนหรือไม่ เพราะถ้าเด็กเพลินกับการเรียนรู้ไปกับครู ความสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียน และช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น


          ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ครูทุกคนต้องเข้าใจตรงกันคือ ลูกศิษย์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากเจเนอเรชั่น X Y มาสู่เจเนอเรชั่น Z หมดแล้ว ดังนั้นครูต้องรู้จักลูกศิษย์แบบใหม่ เพราะเด็กในแต่ละเจเนอเรชั่นจะไม่เหมือนกัน หากเราไม่เข้าใจลูกศิษย์เราก็คงสอนเด็กไม่ได้ ยุคปัจจุบันเด็กเจเนอเรชั่น Z มีความแตกต่างจากเจเนอเรชั่นอื่นๆ มาก 

 

 

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร

 


          ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่โตมากับการมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ กับสมาร์ทโฟน หาความรู้ได้จากสิ่งเหล่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังครู ดังนั้นเมื่อครูเข้าใจเด็ก และรู้วิธีการเรียนรู้ของเด็ก ครูก็จะสอนได้ตรงกับความสนใจของเขา ครูจะมีบทบาทในเรื่องของการสอนให้เด็กรู้จักการใช้สื่ออย่างฉลาด เพราะเวลานี้เด็กใช้สื่อสมัยใหม่ เด็กจะได้แต่สาระ แต่ไม่ฉลาดรู้สาระที่มากับเทคโนโลยี เพราะบางเรื่องบางสาระก็เชื่อไม่ได้ ไม่รู้ว่าสาระไหนจริงปลอม ดังนั้นครูในยุคปัจจุบันจึงต้องมีบทบาทหน้าที่คอยเป็นตะแกรงเพื่อร่อนสาระต่างๆ ที่มากับสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าอันไหนคือสาระแท้ อันไหนสาระเทียม ที่เด็กควรจะได้เรียนรู้


          "ครูจะต้องตื่นตัวเพื่อเรียนรู้ และเข้าใจปัญหาใหม่ๆ ที่มากับยุคสมัยใหม่ต่างๆ มากขึ้น เพราะไม่ได้เป็นแค่ผู้สอนสาระความรู้อย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่ครูต้องสอนสาระของความเป็นคน หรือทักษะมนุษย์ให้เด็กด้วย ครูจึงต้องเข้าใจทักษะมนุษย์ด้วย เพราะไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปขนาดไหนก็ตาม ครูก็อยู่ต่อไปและต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงการสื่อสารไปยังเด็กให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้เด็กประถมศึกษาสามารถค้นหาความรู้ได้เองผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องรอครูแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คุณครูต้องปรับตัวเพื่อรู้เท่าทันเด็กให้ได้” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว.

 

แนะครูยุคใหม่เป็น ไลฟ์โค้ช ชี้แนวทางทักษะชีวิตลูกศิษย์เจนZ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ