Lifestyle

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด โดย... ทีมคุณภาพชีวิต  [email protected] -

 

 

 

          ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) เนื่องจากสถานะครอบครัวยากจน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ หางานทำยากและได้รับค่าจ้างค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอในการดูแลตนเองและครอบครัว จากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าในแต่ละปีมีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 เฉลี่ยปีละ 80,000-100,000 คน โดยในปี 2561 มีจำนวนถึง 147,644 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องร่วมกันช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้ ให้ได้รับโอกาสที่ดีในการทำงาน

 

อ่านข่าว...  เรียนจบตกงานปัญหาระดับชาติ

 

 

 

 

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

 

 

          กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการจัดหางาน ในการขับเคลื่อน “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ” เพื่อเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนที่ยากจน เปลี่ยนเป็นแรงงานฝีมือ เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ สร้างรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ และเป็นไปตามนโยบาย Workforce transformation ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ที่มุ่งปฏิรูปกำลังแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต

 

 

 

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

 


          นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกพร. กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) หน่วยงานในสังกัดกพร. ได้จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานได้แก่ ให้สำรวจนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่แจ้งความประสงค์ที่จะไม่ศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ นำนักเรียนที่ไม่ประสงค์เข้าศึกษาต่อไปศึกษาดูงานการฝึกอาชีพที่ สพร.และสนพ. ภายในจังหวัด เพื่อแนะแนวอาชีพ และกระตุ้นให้เกิดความสนใจในอาชีพและเห็นถึงความต้องการของตนเอง

 

 

 

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

ธวัช เบญจาทิกุล

 


          เมื่อนักเรียนกลุ่มดังกล่าวสามารถตัดสินใจเลือกสาขาอาชีพที่ต้องการฝึกแล้ว สพร.หรือสนพ. จะดำเนินการฝึกอบรมอาชีพ หลังจากจบการฝึกแล้ว จะประสานกรมการจัดหางานจัดหานายจ้างและสถานประกอบกิจการที่มีความต้องการรับนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าทำงาน การันตีฝึกจบมีงานทำแน่นอน โดยในช่วงการฝึกอบรม กพร. มีบริการห้องพัก “ฟรี” ให้แก่นักเรียนที่เดินทางไป-กลับไม่สะดวกอีกด้วย

 



          “สาขาอาชีพที่จัดฝึกอบรม เช่น ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ช่างเชื่อม อาร์กโลหะด้วยมือ ช่างกลึง ช่างประกอบโครงอะลูมิเนียม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนได้เลือกอาชีพที่สนใจ อีกทั้งเป็นสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ เป็นหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม 2-6 เดือน จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จบแล้วมีงานทำแน่นอน จึงเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้อย่างตรงจุด”

 

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

 


          นายสิทธิชัย ดั่งดวงหฤทัย (เตี๊ย) อายุ 16 ปี จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนบ้านแม่จ๊าง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า ครอบครัวมีฐานะยากจน และต้องช่วยเหลือพ่อแม่ที่ทำอาชีพสวนไร่นา หลังจากจบ ม.3 จึงตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ และเข้าฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานเป็นเวลา 4 เดือนกับสนพ.แม่ฮ่องสอน สาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และเข้าฝึกงานที่อู่ช่างพนธ์ดอนชัย 2 เดือน หลังจากจบการฝึกแล้วทางอู่ได้รับเข้าทำงาน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-400 ต่อวัน เป็นรายได้ที่พอจะเลี้ยงตัวเองและแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ สำหรับเพื่อนที่ไม่ได้ศึกษาต่อ อยากเชิญชวนเข้ารับกับฝึกอบรม สร้างอาชีพ สร้างโอกาสในอนาคตที่ดีได้ 

 

 

 

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

 


          ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ยังได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) เพราะยังขาดแคลน และตลาดแรงงานมีความต้องการเป็นอย่างมาก เป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานในกิจการทางทะเล ค.ศ.2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือ ต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองอย่างเช่น กพร. และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ


          ทั้งนี้แนวโน้มความต้องแรงงานบนเรือในปี 2020 มีความต้องการกว่า 75,000 อัตรา และในปี 2025 จะมีความต้องการ 125,000 อัตรา ถึงแม้ว่าจะมีสถาบันการศึกษาด้านพาณิชย์นาวี ผลิตนักศึกษาในด้านนี้ปีละกว่าแสนคน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพอื่น ตำแหน่งคนครัวบนเรือ เป็นตำแหน่งที่มีรายได้ค่อนข้างสูง คนครัวบนเรือขนส่งระหว่างประเทศ จะมีรายได้เดือนละ 30,000-50,000 บาท ทักษะฝีมือของแรงงานไทยด้านอาหารไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่ต้องปรับตัวคือเรื่องของภาษา

 

 

ฝึกอาชีพเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือเพิ่มโอกาสมีงานทำ แก้แรงงานขาด

 


          นายอัครเดช มณฑา หรือจี้ จบ ม.6 ทำงานอยู่ในเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกว่า 5 ปีในตำแหน่ง พนักงานทั่วไป เงินเดือนประมาณ 30,000 บาท เข้ามาอบรมเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งเป็นคนครัวบนเรือ ซึ่งต้องผ่านการอบรมสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือก่อนจึงจะสามารถทำงานในตำแหน่งดังกล่าวได้และหากได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นคนครัวบนเรือ จะมีรายได้ที่สูงขึ้นปัจจุบัน มีเงินส่งให้แก่ทางบ้าน มีเงินชำระหนี้ มีเงินสร้างบ้านและมีเงินเก็บได้
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ