Lifestyle

ปลดล็อกปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเองประเทศก้าวหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน อุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเอง นำประเทศก้าวหน้า โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 

 

 

          “มหาวิทยาลัยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ต้องเริ่มจากการทรานสฟอร์มตัวเอง ต้องปลดล็อกจากความล้าสมัยและต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน” คือความมุ่งมั่นของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศอย่างชัดเจนแก่อาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเรื่องการรับทราบและรับฟังข้อเสนอแนะ “การปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ปี 2558 และ มคอ.”

 

 

          ว่ากันว่าแนวคิดของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากเป็นไปตามนโยบายของ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แล้ว ยังดำเนินการเพื่อปลดล็อกการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยให้สอดคล้องกับการเรียนในยุคปัจจุบัน ต้องการผลลัพธ์การเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ลดภาระหลักสูตรคุณภาพ ช่วยเหลือหลักสูตรที่ต้องการพัฒนา รวมถึงเปิดโอกาสการพัฒนาหลักสูตรข้ามศาสตร์ และเอกชนมาร่วมสร้างหลักสูตร

 

 

 

ปลดล็อกปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเองประเทศก้าวหน้า

 


          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในอดีตประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน สร้างอาชีพให้คนไทย แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตอบโจทย์ใน 3 ประเด็น คือ 


          1.สร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ ให้คนไทยสู่ความเป็น สมาร์ท ซิติเซ็น ต้องสร้างคนให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี คนที่มีความสุข ต้องมีจิตอาสา มองเห็นประโยชน์ส่วนรวม ตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด ภาค จนถึงระดับประเทศ และต้องเป็นการจัดศึกษา Life Long Education เพื่อดูแลคนตั้งแต่อายุ 18 ปี ไปจนถึงตลอดชีวิต 


          ในสถานการณ์ที่จำนวนผู้เรียนน้อยลงแต่ต้องผลิตบัณฑิตออกมาอย่างมีคุณภาพ และมีงานทำ ขณะที่กลุ่มกำลังแรงงาน ซึ่งมีมากกว่า 38 ล้านคน ต้องปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยต้อง Reskill และ Upskill คนเหล่านี้ และกลุ่มคนสูงวัย ด้วยการพัฒนาหลักสูตร non-degree เตรียมความพร้อมให้คนสูงวัยเป็นคนคุณภาพ

 

ปลดล็อกปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเองประเทศก้าวหน้า

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

 




          2.สร้างองค์ความรู้ ผ่านงานวิจัย โดยต้องเป็นงานวิจัยที่เกิดนวัตกรรม ตอบโจทย์ประเทศ แบ่งออกเป็น 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1.การวิจัยที่จะสร้างคนและองค์ความรู้แบบ frontier knowledge ที่จะตอบโจทย์ประเทศ 2.การวิจัยที่จะเพิ่มระดับขีดความสามารถของประเทศ แข่งขันในระดับโลก 3.การวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการพัฒนาพื้นที่และการสร้างเศรษฐกิจฐานราก 4.การวิจัยจากโจทย์ประเด็นท้าทายที่มีในสังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สังคมสูงวัย เป็นต้น


          และ 3.สร้างนวัตกรรม ปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดัน BCG Model โดย B (Bio Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G (Green Economy) หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งครอบคลุมด้านเกษตรอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและวัสดุชีวภาพ และการท่องเที่ยว โดยอาศัยความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน BCG

 

 

ปลดล็อกปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเองประเทศก้าวหน้า

 


          “แต่ละมหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และต้องมี แต่มีลู่วิ่งของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะตอบโจทย์ประเทศ การประชุมครั้งนี้เพื่อยกเครื่องมหาวิทยาลัย และหน้าที่ของผมคือปลดล็อกให้มหาวิทยาลัยมีลู่วิ่งของตนเองและเดินหน้าต่อไปได้ การปลดล็อกเพื่อความเชื่อมั่นที่จะร่วมพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยจะเป็นตัวหลักในการนำพาประเทศ อยากให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงตัวเอง และมองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส ยกระดับมหาวิทยาลัย" ดร.สุวิทย์ กล่าว


          รศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบาย รมว.อุดมศึกษาฯ กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ถือเป็นการสร้างทุนมนุษย์ ที่ทำใหม่ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามความสามารถของตนเอง โดยสอดคล้องกับการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม หลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นต้องมีความยืดหยุ่น ให้สามารถทำตามความถนัด ไม่ทำแบบ one size fits all ที่ตอบโจทย์คนวัย 18 ปี รวมถึงคนวัยทำงานด้วย

 

 

 

ปลดล็อกปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเองประเทศก้าวหน้า

รศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล

 


          สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีนั้น จะยึด 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เน้นการบ่มเพาะ “บุคลิกภาพ” สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21  2.การลงทะเบียนในแต่ละภาคให้อิสระในแต่ละหลักสูตร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับศาสตร์แต่ละสาขา และการข้ามศาสตร์ 3.การประกันคุณภาพให้เกิดความคล่องตัวกับสถาบัน โดยสถาบันเป็นผู้กำหนด


          ส่วนระดับบัณฑิตศึกษานั้น ตอบสนองหลักสูตรได้หลากหลายมากขึ้น ปรับคะแนนภาษาอังกฤษของอาจารย์ใหม่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสถาบัน ปรับระบบการจัดการศึกษาให้เป็นอิสระเพื่อสอดคล้องกับการเรียนในยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลาย รวมถึงปรับเปลี่ยนเพื่อให้สถาบันมีอิสระในการปรับเปลี่ยนรายวิชาและการทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สอดคล้องกับตลาด เน้นให้นักศึกษาทำงานวิจัยทางสายวิชาการหรือสายอาชีพ สามารถปรับเปลี่ยนให้อาจารย์พิเศษมาสอนได้ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน หน่วยงานภายนอกเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้นักศึกษา เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่อาจารย์แต่มีคุณภาพ กรรมการสอบ ป.โท ปรับเพิ่มคุณภาพของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และปรับเกณฑ์การจบการศึกษา ป.โท โดยใช้ระบบ pre review จากสถาบันภายนอก

 

 

 

ปลดล็อกปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทยทรานสฟอร์มตนเองประเทศก้าวหน้า ​​​​​​​

 


          ขณะที่ปริญญาเอก ต้องเพิ่มคุณภาพและบูรณาการของศาสตร์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมไม่น้อยกว่า 1 คน เน้นถึงแนวทางสัมฤทธิ์การศึกษา และปรับการเผยแพร่ให้เป็นมาตรฐานสากล เน้นการวิจัย และนวัตกรรม หรือการสร้างสรรค์ที่มีงานวิจัย


          นอกจากนั้น คณะทํางานมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบคลังหน่วยกิต และเห็นควรให้มีการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1) ระยะเวลาเก็บข้อมูลผลการเรียน/ประสบการณ์ในระบบคลังหน่วยกิต 2) เสนอแนะให้มีการใช้การเทียบโอนระหว่างภาคีสถาบันอุดมศึกษา (University Consortium) โดยทําข้อตกลงร่วมกัน (MOU) และ 3) แก้ไขประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แนวทางการดําเนินงานระบบคลังหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา โดยให้ ยกเลิก ข้อ 13 (2) (ค)


          อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการทำความเข้าใจกับกลุ่มมหาวิทยาลัย และรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ รมว.อุดมศึกษาฯ ได้ประกาศนโยบายในการขับเคลื่อนอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ