Lifestyle

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร[email protected]

 

 

 

          จากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่ถดถอยมากซึ่งสะท้อนสภาพปัญหาที่มีความยากมากขึ้น ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐและเงินบริจาคกลับมีแนวโน้มลดลง จึงมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเลือกใช้มาตรการที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก

 

 

          ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้น แม้มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงมีโจทย์สำคัญหลายเรื่องที่ประเทศไทยควรเร่งจัดการอย่างเป็นระบบก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ยังมีหลายส่วนที่มีความซับซ้อน เชื่อว่าการแก้ไขต้องทำที่ต้นทาง เริ่มจากการทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

 

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ระบุว่า ยังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน และที่น่ากังวลไปกว่าจำนวนเด็กนอกระบบ คือ ความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มชะลอตัวลง กลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้ายยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา หรือต้องออกจากการเรียนกลางคัน ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษาในระดับโลกเริ่มกลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2016-2017 อีกครั้ง

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          ส่วนประเทศไทยยังมีเด็กเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสอีกมากกว่า 670,000 คนที่มีอายุ 3-18 ปี และยังมีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน


          รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2562 ที่ทางราชสถาบันวิทยาศาสตร์สวีเดน มอบให้แก่ นายอะบีจิต บาเนร์จี นางเอสเธอร์ ดิวโฟล นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และนายไมเคิล เครเมอร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในสหรัฐอเมริกา จากแนวคิดการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับโลก ด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์กิจกรรม (For their experimental approach to alleviating global poverty)




          "รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถใช้สนับสนุนข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาและเลือกนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาตามบริบทของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน” นายประสาร กล่าว

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          นายประสาร กล่าวต่อว่า ผลการวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า 31 โครงการทั่วโลก ด้วยกระบวนการ Randomized Control Trial (RCT) พบว่านโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการที่เจาะจงไปที่ อุปสงค์ต่อการศึกษา (Demand for Education) มุ่งปัญหาความต้องการที่แท้จริงของนักเรียนและผู้ปกครองหลายมาตรการให้ผลลัพธ์และความคุ้มค่าทางงบประมาณที่สูงกว่ามาตรการด้านอุปทานของการศึกษา เช่น การลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษา อย่างการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ Conditional Cash Transfer (CCT) ต่ออัตราการมาเรียนของผู้เรียน ซึ่งเป็นมาตรการที่กสศ.ดำเนินการอยู่ หรือการสนับสนุนอาหารเช้า เครื่องแบบ และการเดินทาง แบบมีเงื่อนไข

 

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี การทำงานของคณะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และทีมงานของศูนย์วิจัย J-PAL แห่งมหาวิทยาลัยเอ็มไอที และสถาบันทั่วโลกว่า สามารถเพิ่มอัตราการเข้าเรียน การสำเร็จการศึกษา และลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของผู้เรียนจากครัวเรือนที่มีความยากจนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และใช้งบประมาณน้อยกว่ามาตรการทางฝั่งอุปทาน อย่างการสร้างโรงเรียน สร้างห้องเรียนเพิ่ม หรือการเพิ่มครู การที่เด็ก เยาวชน หรือ ผู้ปกครอง ปฏิเสธการศึกษา เพราะต่อให้รัฐบาลสร้างโรงเรียน หรือจ้างครูเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงเด็กๆ มากขึ้นแล้ว แต่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นการตัดสินใจ ด้วยมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่เข้าใจในอุปสงค์ต่อการศึกษาของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องบริบทเฉพาะ

 

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          “ความตั้งใจของคณะกรรมการบริหาร กสศ. จะไม่ทำงานในสเกลใหญ่ แต่จะหามุมเล่น รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยในแนวทางเดียวกับสิ่งที่ กสศ.ทำอยู่ จึงเป็นจังหวะที่ดีมาก เพื่อทำความเข้าใจว่าที่คุณทำอยู่ใช้เงินมาก เน้นซัพพลาย (อุปทาน) แต่กสศ.จะเข้ามาเสริม ใช้ข้อมูลความรู้ ทำให้ถูกที่ถูกทาง เน้นเรื่องดีมานด์ (อุปสงค์) จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล กสศ.ทำที่ต้นเหตุ ไม่ทิ้งปัญหายากจนข้ามชั่วคน ในขณะที่แจกเงินชิมช้อปใช้จะหมด รุ่นต่อไปก็หมด ดังนั้น สิ่งที่ กสศ.ดำเนินการจึงไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการอื่นๆ ต้องระวังอย่าตกหลุมพรางว่า งานของกสศ.ซ้ำซ้อน จนขอตัดงบประมาณ แต่ความจริงมันคนละวง คนละภารกิจ” นายประสาร กล่าว

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          ด้าน นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ.พยายามจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ตรงจุด โดยเฉพาะปัญหาในฝั่งอุปสงค์ทางการศึกษา (Demand-side) ทั้งเรื่องการลดต้นทุนในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และการประเมินคุณค่าในการศึกษาต่อของผู้เรียนจากครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เงินไม่มาก แต่ผลการวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพบว่าได้ผลต่อความเสมอภาคสูง

 

 

 

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ทางออกลดเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน

 


          “โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนจะต้องมีเงื่อนไขตามเกณฑ์ คือมาเรียนไม่น้อยกว่า 80% ล่าสุดพบว่านักเรียนยากจนพิเศษที่รับทุน กสศ.ไป มาเรียนครบตามเกณฑ์ 98% ส่วนอีก 2% กสศ.ต้องไปติดตามว่าเด็กมีปัญหาอย่างไร รวมถึงเรื่องดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI ซึ่งมีอยู่ราว 2 แสนคน หรือราว 30% ที่ยังมีน้ำหนัก ส่วนสูง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ 1.3 แสนคนสูงเกินมาตรฐาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ กสศ.พยายามจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นทางให้ตรงจุด โดยจะนำงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลมาเรียนรู้ และทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยในต่างประเทศและในประเทศเพื่อช่วยให้สังคม ผู้เสียภาษี มีความมั่นใจมากขึ้น” นายไกรยส กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ