Lifestyle

น้ำเมามือสองกระทบเด็กเยาวชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]

 

 

 

          เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มพบว่า ส่วนใหญ่ 5.7% มาจากการดื่มของพ่อแม่, 5.7% มาจากการดื่มของคนในชุมชนหรือคนแปลกหน้า, 3.5% มาจากการดื่มของญาติพี่น้อง และ 1.4% มาจากเพื่อน ทั้งนี้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นความรุนแรงต่อเด็กรูปแบบหนึ่ง ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

 

 

          ขณะที่เด็กและเยาวชนไทย 24.6% เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของคนอื่น โดย 9.5% ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรง เช่น 7.4% ถูกดุด่าอย่างรุนแรง, 3.5% ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย, 1.7% ถูกตี ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น 10.7% อยู่ในสภาวะแวดล้อมเสี่ยงไม่เหมาะสม เช่น 7.4% เคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว, 5.2% มีเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กที่ดูแล และ 0.1% เด็กที่ดูแลเคยไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การอยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มอย่างหนัก จะเพิ่มโอกาสเด็กได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็น 3.3 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่มหนัก 



          เมื่อวันที่ 23 กันยายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงานเสวนา “สถานการณ์ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยในครอบครัวนักดื่ม” ซึ่งมีการเปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย หรือภัยเหล้าที่เราไม่ได้ดื่ม ในกลุ่มประชากรไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,695 คน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร โดย ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า 79% เคยได้รับผลกระทบจากภัยเหล้ามือสองอย่างใดอย่างหนึ่ง

 



          โดย 76.8% ได้รับผลกระทบด้านจิตใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น เมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะเพราะการดื่มของคนแปลกหน้า หวาดกลัวเมื่อเผชิญคนแปลกหน้าที่ดื่มตามถนน เป็นต้น 42% ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น คนในครอบครัว เพื่อนไม่ทำงานเพราะเมา เคยมีปัญหาครอบครัวจากการดื่มของคนอื่น


          ขณะที่เด็กและเยาวชนไทย 24.6% เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของคนอื่น โดย 9.5% ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรง เช่น 7.4% ถูกดุด่าอย่างรุนแรง 3.5% ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย 1.7% ถูกตี ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น 10.7% อยู่ในสภาวะแวดล้อมเสี่ยงไม่เหมาะสม เช่น 7.4% เคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว 5.2% มีเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กที่ดูแล และ 0.1% เด็กที่ดูแลเคยไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การอยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มอย่างหนัก จะเพิ่มโอกาสเด็กได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็น 3.3 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่มหนัก


          “สำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มพบว่า ส่วนใหญ่ 5.7% มาจากการดื่มของพ่อแม่ 5.7% มาจากการดื่มของคนในชุมชนหรือคนแปลกหน้า 3.5% มาจากการดื่มของญาติพี่น้อง และ 1.4% มาจากเพื่อน ทั้งนี้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นความรุนแรงต่อเด็กรูปแบบหนึ่ง ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่" ภญ.อรทัย กล่าว


          ภญ.อรทัย กล่าวอีกว่า ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะหากมีมาตรการคัดกรองเด็กที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง หากสามารถคัดกรองส่งพ่อแม่ที่มีการดื่มไปบำบัดรักษาและช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ จะช่วยลดความรุนแรงหรือช่วยก่อนที่จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ อย่างประเทศอังกฤษก็จะมีมาตรการตรงนี้ รวมถึงต้องมีมาตรการลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าถ้าขึ้นราคาสุรา 1% จะลดความรุนแรง 3.1-3.5%


          ขณะที่งานวิจัยพบว่า ชุมชนไหนมีจำนวนร้านเหล้ามาก ก็จะมีรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวมากเช่นกัน แต่เมื่อลดจำนวนชั่วโมงจำหน่ายเหล้า กลับพบว่า จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวลดลงไปด้วย การไปใช้ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลจากเหล้าลดลง ดังนั้น จึงต้องตัดตอน บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลดสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง เพิ่มกิจกรรมเชิงบวกแก่เยาวชน เพื่อ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่


          ด้าน น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2560 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยนักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อย


          โดยปี 2557 มีนักดื่มประจำ 703,885 คน ปี 2560 จำนวน 684,598 คน ส่วนนักดื่มหนัก ปี 2557 จำนวน 1,122,797 คน ปี 2560 จำนวน 1,005,462 คน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการป้องกัน ประเทศไทยอาจมีเยาวชนเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น และไทยยังขาดนโยบายเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมการผลิตเบียร์เชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศที่น่ากังวล และเป็นอุปสรรคต่อการลดจำนวนกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่


          นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากข้อมูลงานวิจัย เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งว่า ครอบครัวที่มีนักดื่มนั้น การผลิตซ้ำซึ่งความรุนแรงจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จนกว่าจะถึงจุดแตกหักในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีนัยไม่ต่างจากใบอนุญาตให้เด็กๆ ใช้มันต่อไปหรือผลิตซ้ำได้ 


          งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความชอบธรรมที่จะนำไปสู่นโยบายในเชิงป้องกัน เชิงเยียวยาอย่างเป็นระบบ เช่น 1.พ่อแม่หรือครอบครัวที่เป็นนักดื่มต้องเข้าถึงการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ 2.การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องไม่เน้นการรักสถาบันครอบครัว แต่ต้องเน้นการปกป้องผู้ถูกกระทำ 3.องค์กรที่รับผิดชอบเยาวชนที่ผ่านความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นระดับถูกกระทำ ระดับรู้เห็นหรือประจักษ์พยาน ต้องไม่ซ้ำเติมหรือผลิตซ้ำความรุนแรงกับเยาวชนโดยเด็ดขาด เพื่อปฏิบัติการเพื่อสื่อสารกับเยาวชนอย่างตรงไปตรงมาบนความเคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


          **สถานการณ์นักดื่มหน้าใหม่
          ปี 2560 อายุ 15-24 ปี 2,282,523 คน
          ร้อยละ 23.91 ดื่มสุราในรอบ 12 เดือน
          ปี 2557 มีนักดื่มประจำ 703,885 คน
          ปี 2560 จำนวน 684,598 คน
          **นักดื่มหนัก
          ปี 2557 จำนวน 1,122,797 คน
          ปี 2560 จำนวน 1,005,462 คน
          **ที่มาศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)
          *ผลกระทบการดื่มต่อบุคคลรอบข้าง
          - สำรวจกลุ่มประชากรไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,695 คน
          - เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกทม.
          79% เคยได้รับผลกระทบจากภัยเหล้ามือสอง
          76.8% ได้รับผลกระทบด้านจิตใจรู้สึกไม่ปลอดภัย 
          หวาดกลัวเมื่อเผชิญคนแปลกหน้าที่ดื่มตามถนน 
          42% ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเพื่อนไม่ทำงานเพราะเมา
          ** เด็กและเยาวชนไทย 24.6% เคยได้รับผลกระทบ

- 5.7% มาจากการดื่มของพ่อแม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ