ข่าว

สุเทพโชว์หลักฐาน"ทักษิณ"บินผ่านน่านฟ้าไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สุเทพ”โชว์หลักฐานได้ข้อมูล “ทักษิณ”บินผ่านน่านฟ้าไทย จากหน่วยงานในปท. ยันไม่เคยให้วิศวะไปจารกรรมข้อมูล เตรียมส่งหลักฐานช่วยวิศวกรหนุ่มที่กัมพูชา

 (26พ.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายก่อนที่จะปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ มีนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธาน โดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาคาทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เรื่องการใช้อำนาจรัฐเกินกว่าเหตุว่า รัฐบาลพยายามไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องหลัก มากกว่าบริหารราชการแผ่นดิน

 โดยเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ รับเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และได้นั่งเครื่องบินส่วนตัวมาที่กัมพูชา ได้รับอนุญาตให้ผ่านน่านฟ้าไทยได้แล้วทั้งไปแล้วกลับ โดยไม่ต้องแจ้งชื่อผู้โดยสาร ที่ต้องเก็บเป็นความลับ แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุในวันที่ 15 พ.ย.ว่าเส้นทางการบินไม่เป็นความลับ เครื่องบินที่พ.ต.ท.ทักษิณ เช่าได้ขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบินผ่านน่านฟ้าไทย ดังนั้นไม่จำเป็นต้องล่วงความลับจากกัมพูชา และทันทีที่รัฐบาลทราบข้อมูลก็สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกบินผ่านน่านฟ้าไทยขากลับ แต่ท่านไปแอบรู้มาได้อย่างไรว่าเครื่องบินเอ็น 300 บีแซทมี พ.ต.ท.ทักษิณ โดยสารมาด้วย

 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ชี้แจงว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มาที่กัมพูชา ตอนเดินลงจากเครื่องบิน สื่อก็ถ่ายทอดภาพ ก็เห็นหมายเลขเครื่องบิน ตนก็สงสัยว่า บินจากไหนไปไหน เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง จึงไปตรวจสอบและถามไปทางกรมขนส่งทางอากาศ กรมคมนาคมทางอากาศ วิทยุการบินของประเทศ ก็ได้รับคำตอบว่า เครื่องบินลำนี้ ยื่นหนังสือขอบินผ่านน่านฟ้า ขาไป 9 พฤศจิกายน ขากลับ 13 พฤศจิกายน หน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่า เป็นการบินไม่ประจำ ไม่มุ่งประสงค์การค้า และอากาศยานทะเบียนอเมริกา ตามสัญญาชิคาโก้ ก็เลยอนุญาต

 ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่มีใครผิด แต่เมื่อเครื่องบินไปจอด คนที่ทำผิดจนศาลตัดสินแล้วและหนีศาล เดินลงมา ก็เป็นการที่เครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารที่ไม่เหมาะสมผ่านประเทศไทย ตนก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบเพราะคนๆนี้มีการกระทำที่อาจกระทบความมั่นคง ตนจึงสั่งการไปยังอธิบดีกรมการขนส่ง และวิทยุการบิน ให้ยกเลิกการอนุญาตบินขากลับที่ต้องบินผ่านประเทศไทย และแจ้งไปยังบริษัทนี้ว่า ไม่อนุญาตให้เครื่องบินที่เชื่อว่าจะมี พ.ต.ท.ทักษิณ โดยสาร บินผ่านน่านฟ้า ดังนั้นที่ตนสั่งการเป็นการใช้อำนาจตามปกติที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ซึ่งเมื่อสั่งการไป ก็มีการดำเนินการ และเครื่องบินดังกล่าวก็ไม่ได้บินผ่านน่านฟ้าไทย ซึ่งมีเอกสารทั้งหมดยืนยันและเข้าถึงได้ตามช่องทางปกติ ไม่ต้องให้วิศวกรไปจารกรรมข้อมูลจากกัมพูชาส่งมาให้ ฉะนั้นถ้ามีการสมคบให้วิศวกรรับบาป ก็ให้เป็นบาปของคนที่สมคบกันใส่ความ

 น.อ.อนุดิษฐ์ ถามต่อว่า วันนี้พี่น้องวิศวกร นายศิวิลักษณ์ ชุติพงษ์ วิศวกร กำลังเป็นแพะรับบาป วันนี้ชัดเจนว่าข้อมูลทั้งหมดไม่ได้แอบรับทราบ ไม่ได้เป็นการจารกรรมข้อมูล อยากถามว่าวันนี้นายศิวิลักษณ์ ชุติพงษ์ วิศวกร ที่ถูกจับ รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการจะช่วยเหลือ วันนี้เดือนร้อน เพราะการกระทำที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล จะช่วยเหลือคนไทยอย่างไร

 นายสุเทพ ตอบว่า มีแต่ท่านกับเขมรที่พูดกันว่านายศิวลักษณ์เข้าข้อมูลมาให้ตน ทั้งหมดคนไทยได้ยินหมดว่ามีกลุ่มของท่าน กับเขมรที่พูดทิศทางเดียวกัน จึงไม่อยากตอบโต้อะไรมาก รัฐบาลจะช่วยตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยได้ส่งเขจ้าหน้ากระทรวงการต่าประเทศไปพบ ไปดู หากไม่มีทนายก็หาให้ และได้เตรียมเอกสารหลักฐานเหล่านี้ให้ทนายไปสู้คดี สามารถยืนยันกับทางการกัมพูชา ส่วนกระบวนการยุติธรรมจะทำอย่างไร เราก็ต้องเคารพ

 น.อ.อนุดิษฐ์ ถามว่าข้อมูลที่ได้มาทราบว่าสั่งการให้กองทัพอากาศนำเครื่องบินขับไล่ติดอาวุธเต็มพิกัด จรวดสังหาร ปืนกล เพื่อปฏิบัติภารกิจ หากมีการให้บินขึ้นจริงมีความพยายามอย่างยิ่งยวดหรือไม่ เพื่อทำลายเครื่องบินพลเรือนหรือไม่ ทั้งที่มีกฎสากล ห้ามเอาไว้ว่าห้ามใช้อาวุธปฏิบัติต่อเครื่องบินพลเรือนเด็ดขาด

 นายสุเทพ ชี้แจงว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง ดังนั้นหากมีเจตนาร้ายจริงก็ปล่อยให้เขาบินเข้ามาก็ถึงปล่อยดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ได้สั่งการให้เครื่องบินขึ้นไป แต่กองทัพอากาศสั่งให้เครื่องบินเตรียมพร้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินลำดังกล่าวบินเข้ามา เมื่อเครื่องบินลำดับกล่าวไม่ได้เข้ามาเครื่องบินก็บินลาดตระเวนตามปกติ

สุรเกียรติแนะลดกระแสค่านิยมและขอเจรจากัมพูชาก่อน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ยกเครื่องเรื่องกัมพูชา" ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชาว่า มีหลายปัจจัยผสมผสานกันคือ

1.ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ในอดีต
2.ความไม่ชัดเจนด้านเส้นเขตแดนทางทะเล ซึ่งเป็นมรดกบาปจากฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม
3.การใช้กระแสชาตินิยมเป็นเครื่องมืองทางการเมืองของกัมพูชา
4.รัฐบาลไทยไม่มียุทธศาสตร์และกลยุทธกับประเทศเพื่อนบ้านที่ชัดเจน และมีการใช้อารมณ์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในบางครั้ง
5.ความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย
6.ปัญหาปราสาทพระวิหาร
7.รมว.ต่างประเทศของไทย เคยปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำกัมพูชาในเวทีพันธมิตร
8.ปัญหาการเมืองภายในของไทย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
9.ผู้มีอำนาจของไทย ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำพูดผ่านสื่อไว และมากเกินไป ทั้งยังขาดเอกภาพในการให้สัมภาษณ์


โดยทางออกที่รัฐบาลไทยควรดำเนินการคือ
1.การลดกระแสค่านิยมของทั้งสองประเทศ
2.หันกลับมาทบทวนจุดอ่อน-แข็ง และอำนาจต่อรองของไทย เพื่อวิเคราะห์ว่ากัมพูชาจะเดินเกมอย่างไรต่อไป (เช่น การนำข้อพิพาทไทย-กัมพูชาขึ้นมาพูดในเวทีอาเซียน, ยูเอ็น) และเราต้องดักทางอย่างไร
3.ใช้เวทีทวิภาคีชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศอื่นๆ ให้มากที่สุด
4.ขอเปิดการเจรจากับกัมพูชาก่อน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรี แต่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่และกดดันให้กัมพูชาชี้แจงประเด็นต่างๆ กับไทย แต่ที่สำคัญคือคนที่จะไปคุยต้องเป็นคนที่กัมพูชาอยากคุย ไม่ใช่ส่งคนที่ไม่ชอบหน้ากันไปคุย
5.ชะลอการบรรจุวาระการพิจารณายกเลิก เอ็มโอยู.ว่าด้วยเขตแดนทางทะเลเข้าสภา หากไม่ต้องการเจรจาเรื่องนี้ก็สามารถแจ้งไปยังกัมพูชาว่า จะไม่เจรจาหรือจะทบทวนการเจรจาในอนาคตได้ ไม่จำเป็นต้องยกเลิก เพราะ เอ็มโอยู.ฉบับนี้เป็นแค่การตกลงกันว่าจะตั้งคณะกรรมการมาเจรจากัน ไม่ใช่การแบ่งผลประโยชน์หรือเส้นเขตแดน
6.ฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาปราสาทพระวิหารที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 (ก่อนหน้านี้กัมพูชาอ้างว่า ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารก่อนแล้วค่อยมาประชุมคณะกรรมการ.ชุดนี้ แต่พอขึ้นทะเบียนแล้วกัมพูชาไม่ยอมเชิญเราไปคุยเรื่องคณะกรรมการชุดนี้อีกเลย)
7.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน

 ทั้งนี้ นายสุรเกียรติ เห็นว่า "ประเทศไทยและคนไทยต้องไม่ทำให้ปัญหากีฬาสี ซึ่งเป็นปัญหาการเมืองภายในของไทยมากระทบความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ และต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ไทยกับกัมพูชาจะมาเกลียดกันแค่เพราะคนๆ เดียว ที่บินเข้าไปอยู่ในกัมพูชาแค่ 4 วัน แล้วก็ไป โดยมีประชาชนของทั้งสองประเทศมานั่งมองเศษซากปรักหักพังที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง"

 “กษิต”ย้ำจุดยืนไทย-กัมพูชาให้รมว.ต่างประเทศอินโดฯทราบ 

นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการหารือทวิภาคีระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายอาร์เอ็ม มาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย กว่า 1 ชั่วโมงว่า การพบปะกันครั้งนี้ได้มีการหารือในหลายเรื่อง ทั้งในกรอบความร่วมมืออาเซียน และทวิภาคีระหว่างกัน โดยนายมาร์ตี้ ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียนได้แสดงบทบาทผลักดันแนวทางการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ในการประชุมจี 20ได้เป็นอย่างดี

 และยังได้ขอบคุณไทย ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอินโดนีเซียที่ได้ประสบพิบัติภัยที่เกาะสุมาตรา ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้ชี้แจงถึงการเปลี่ยนกฎหมายสัมปทานประมงของอินโดนีเซีย โดยจะมีการหารือในการการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีการกำหนดวันอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ทั้งสองยังมีการหารือถึงความร่วมมือกัน ในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ ภายใต้ความร่วมมือสหประชาชาติ ซึ่งไทยกับอินโดนีเซียจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องอย่างใกล้ชิด

 นายธานี กล่าวถึงการที่อินโดนีเซียจะเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ว่า นายกษิต ได้อธิบายย้ำถึงจุดยืนของไทย ให้อินโดนีเซียทราบ ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงให้ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียได้ทราบในการเดินทางไปร่วมประชุมที่เอเปค เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเหตุใด และเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของสองประเทศ โดยทางอินโดนีเซียยืนยันว่าจะอยู่ในฐานะรับฟังข้อมูลด้วยดี และหวังว่า ปัญหาจะคลี่คลายในไม่ช้า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ