Lifestyle

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 

 

 

          “ประชาชนไม่รู้สิทธิ์ เพราะมีปัญหาในการเข้าถึง ขณะเดียวกันไม่มีฐานข้อมูลครบถ้วน ทำให้บริการและการส่งต่อล่าช้า” นี่คือปัญหาที่ “ประกาย ธีระวัฒนากุล กรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ที่ปรึกษาทีมงานโครงการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ : การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส” ได้สะท้อนถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทยไม่ได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิ์

 

 

 

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

 

 

          “แพลตฟอร์มได้โอกาส” เป็นต้นแบบโมเดลแห่งการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยน “ผู้ด้อย” เป็น “ผู้ได้” นวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา กับ i-team กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในนวัตกรรมได้รับรางวัลต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐ ในงาน “ปลุกนวัตกรรมจากรัฐ : จากไอเดียสู่ Big Impact” โครงการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2562 หรือ Gov Lab ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการดำเนินการ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ประจำประเทศไทย

 

 

 

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

 


          ประกาย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ด้อยโอกาสกว่า 15 ล้านคน ซึ่งมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าถึงการรับบริการ หรือรับสิทธิ์จากภาครัฐ อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเพียง 11 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับ แต่อีก 4 ล้านกว่าคนไม่ได้รับ และจากการลงพื้นที่สอบถามไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม พบว่า ผู้ด้อยโอกาสส่วนใหญ่ไม่รับทราบว่าตนเองนั้นมีสิทธิ์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือสิทธิ์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับ เช่น สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิ์ผู้สูงอายุที่รัฐจัดบริการให้ ดังนั้น ต้นแบบ “แพลตฟอร์มได้โอกาส” จะเป็นการสร้างโมเดลการรับรู้เรื่องสิทธิ์ และการสร้างฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส และแอพพลิเคชั่นผู้ช่วยอาสาสมัคร

 

 

 

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

 


          “สาเหตุที่ผู้ด้อยโอกาสไม่รู้สิทธิ์ของตัวเองนั้น เกิดจากอ่านหนังสือไม่ออก ไม่กล้าติดต่อกับหน่วยงานรัฐ มีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เชื่อใจอาสาสมัครมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่รู้สิทธิ์เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ การสร้างโมเดลการรับรู้จะใช้ร่วมกับสื่อต่างๆ ที่ใช้สื่อสารกับประชาชน เช่น คู่มือประชาชน สปอตวิทยุ โทรทัศน์ แผ่นพับ ในลักษณะของสัญลักษณ์ของภาพที่มักถูกใช้เพื่อแทนการสื่อสาร เช่น เงินอุดหนุนใช้เป็นภาพธนบัตร สุขภาพใช้ภาพยา การศึกษาใช้ภาพดินสอหรือตัวอักษร ก. ที่อยู่อาศัยใช้ภาพบ้าน สนับสนุนงาน/อาชีพใช้อุปกรณ์ทำงาน ผู้พิการใช้สัญลักษณ์คนพิการนั่งบนรถเข็น การคุ้มครองทางสังคมใช้ภาพจับมือ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนั้นจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ผู้ด้อยโอกาสเพียงกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ก็สามารถรับรู้ทุกสิทธิ์ ซึ่งมีประมาณ 47 สวัสดิการของรัฐที่ควรจะได้รับ”

 

 

 

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

 


          การจะเข้าถึงผู้ด้อยโอกาสได้ส่วนหนึ่งต้องมีฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส ซึ่งประเทศไทยขาดฐานข้อมูลรวม ระบุสถานะ สิทธิ์ผู้ด้อยโอกาสที่ชัดเจน ทำให้การตรวจสอบสถานะและสิทธิ์ต่างๆ มีความล่าช้า ผู้ด้อยโอกาสมีข้อจำกัดเข้าไม่ถึงระบบ ขณะเดียวกันการส่งต่อแต่ละกรณีติดขัด เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อมต่อถึงกันของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานก็ต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ด้อยโอกาส ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้ต้องทำงานเดิมซ้ำๆ ส่งผลให้งานล่าช้า


          ที่ปรึกษาทีมงาน แพลตฟอร์มได้โอกาส เล่าต่อว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นการสร้างเครื่องมือและฐานข้อมูลเพื่อช่วยให้อาสาสมัครทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีฐานข้อมูลและสามารถใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวจากหลายๆ กระทรวงให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ขณะเดียวกันการสร้างแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยอาสาสมัครในการกรอกข้อมูลให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ด้วยรูปแบบง่ายๆ กรอกเลขบัตรประชาชนหรือสแกนใบหน้าเพื่อระบุตัวตน ตรวจสอบยืนยันตัวตน ตรวจสอบสถานะก่อนส่งต่อ แบบฟอร์มกลาง อัพข้อมูลและข้อมูลสิทธิ์ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ โดยที่ผู้ด้อยโอกาสสะดวก เข้าถึงได้ทุกที่ และอาสาสมัครก็สามารถช่วยผู้ด้อยโอกาสได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน 

 

 

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

 

 


          ทั้งนี้ ฐานข้อมูลต่างๆ นั้น ต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นต้น เพื่อที่จะได้เชื่อมต่อข้อมูลเข้าระบบ นำไปสู่การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


          “มีต้นแบบในการจัดระบบฐานข้อมูลให้แก่ภาครัฐ รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากภาครัฐในการจัดทำข้อมูลต่างๆ ซึ่งหากมีการจัดทำแพลตฟอร์มได้โอกาสเกิดขึ้นจริง จะช่วยประชากรไทยที่เป็นคนจนและคนด้อยโอกาสกว่า 15 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงสวัสดิการและได้รับการดูแล ลดการซ้ำซ้อนการใช้งบประมาณและบุคลากร 35% ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงสวัสดิการเพิ่มขึ้น 10% มีฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาสที่บูรณาการกันเป็นหนึ่งเดียวจาก 20 กว่าฐานข้อมูล เป็น 1 ฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส ดังนั้น แพลตฟอร์มได้โอกาสจะสามารถช่วยผู้ด้อยโอกาสของไทยให้ได้รับรู้สิทธิ์ และที่สำคัญยังทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลของรัฐในการจัดเก็บผู้ด้อยโอกาสและสิทธิ์ต่างๆ”

 

 

 

แพลตฟอร์มได้โอกาส ค้นหาสิทธิ์ ช่วยผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

 


          อย่างไรก็ตาม “แพลตฟอร์มได้โอกาส” ยังเป็นนวัตกรรมต้นแบบ ซึ่งทางทีมงานจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนและจัดทำสร้างนวัตกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ด้อยโอกาสไทย และช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยผู้ด้อยโอกาสก็ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น


          โรดแม็พแพลตฟอร์มได้โอกาส:การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
          ปีที่1 วางรากฐาน
          1.Quick Win บูรณาการฐานข้อมูล
          -ที่มีของ พม.และฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง
          2.สร้างโมเดลการรับรู้สิทธิ์
          -โดยออกแบบและจัดทำคู่มือฉบับประชาชน
          -การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่น่าเชื่อถือให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
          3.ทดลองโมเดลการสื่อสารรับรู้สิทธิ์ และฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาสในเชิงพื้นที่
          -เช่นจังหวัดที่ยากจนสุด 10 จังหวัด
          4.สร้างฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส
          -จัดเก็บข้อมูลผู้ด้อยโอกาสและสิทธิ์ต่างๆ ของภาครัฐ
          ปีที่ 2 ต่อยอดและขยายผล
          1.พัฒนาแอพพลิเคชั่น
          -เพื่อให้บริการข้อมูลความรู้ การตรวจสอบสิทธิสวัสดิการต่างๆ สำหรับประชาชน
          2.ต่อยอดให้เป็นเครื่องมือสำหรับอาสาสมัคร
          -จัดเก็บข้อมูลผู้ด้อยโอกาสและการตรวจสอบสิทธิ์
          ปีที่ 3 ยกระดับการบริการ
          1.ขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบดิจิทัล
          -ยกระดับการทำงานให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส
          2.บูรณาการข้อมูลกับทุกหน่วยงาน
          -เพื่อขยายฐานการบริการ และการส่งต่อเคสไปยังหน่วยงานต่างๆ
          ที่มา:มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ