Lifestyle

พัฒนา"เด็กปฐมวัย"คืนทุน7เท่าสร้างชาติ-ลดเหลื่อมล้ำประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected]

 

 

          พ่อแม่คนรุ่นใหม่ที่มีกำลังจ่ายสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และสามารถจัดการศึกษา “ปฐมวัย” ให้ลูกอย่างมีคุณภาพได้ ทว่ายังมีพ่อแม่อีก 50 ล้านคนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ฝากความหวังมอบความไว้วางใจให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดูแลและจัดการศึกษาให้ลูกตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาแทนพวกเขา นั่นหมายความว่าหน่วยงานที่จัดการศึกษาต่างๆ นั่นมีความสำคัญยิ่ง ต่อการสร้างอนาคตของประเทศชาติ โดยเฉพาะ “ปฐมวัย” ปฐมบทแห่งการเริ่มต้นของชีวิต

 

 

          เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีส่วนสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ให้แก่ประชากรของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม การพัฒนาเด็กปฐมวัยยังสามารถช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาคือการเลื่อนชนชั้น” ที่ดีที่สุดนั่นเอง 


          วีระชาติ กิเลนทอง นักเศรษฐศาสตร์ หัวหน้าโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE Thailand) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไรซ์ไทยแลนด์” ที่ผันตัวเองมาเป็น คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพราะมองว่าหากจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมต้องทำให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค และหากต้องการให้การศึกษามีคุณภาพที่ดี ต้องมีระบบจัดการศึกษาให้ส่งเสริมเด็กไทยได้เรียนรู้อย่างถูกต้องตั้งแต่ปฐมวัย และริเริ่มนำหลักสูตรไฮสโคป ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮ็กแมน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้สูงกว่า ก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติดน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนในรูปแบบปกติ และสามารถสรุปผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ว่า หลักสูตรไฮสโคปให้ผลประโยชน์ถึง 7 เท่าของต้นทุน

 



          หัวหน้าโครงการ “ไรซ์ไทยแลนด์” บอกว่า ได้นำเอาหลักสูตรไฮสโคปมาพัฒนาและทดลองใช้ในประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นที่กระบวนการเรียนการสอนเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อการเรียนการสอนหรืออุปกรณ์พิเศษที่มีราคาสูง ไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งรองรับเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ของประเทศ เน้นการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพสอนให้ครูปฐมวัยสามารถสอนเด็กโดยใช้กระบวนการ วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน (Plan-Do-Review) เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจวางแผนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการตัดสินใจ และรู้จักอดทน


          เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคิดของเด็กเองอย่างกระตือรือร้น ได้เรียนรู้จากสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนได้ใช้ความคิดในการลงมือปฏิบัติ และได้สะท้อนความคิดผ่านขั้นตอนการทบทวน โดยครูปฐมวัยสามารถให้เด็กแต่ละคนเล่าประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการเป็นผู้นำ โดยครูปฐมวัยสามารถพัฒนาทักษะของตนเองและเด็กนักเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้เต็มศักยภาพพร้อมสู่ไทยแลนด์ 5.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหลักสูตรไฮสโคป


          "ที่ผ่านมามีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในเขต จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 21 ตำบล 6 อำเภอ 40 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครอบคลุมเด็กอายุระหว่าง 2 ถึง 4 ขวบ กว่า 2,000 คนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกัน การเก็บข้อมูลและการวิจัยที่เป็นระบบของโครงการ จะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ดังที่ตั้งใจไว้ และได้อบรมครูปฐมวัยไปแล้วส่วนหนึ่ง และจะอบรมไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ตามหลักสูตรไฮสโคปให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่สร้างเด็กไทยให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ได้ในที่สุด" วีระชาติ กล่าว


          ปฏิรูปครูแก้เหลื่อมล้ำ“ปฐมวัย”
          ดารณี อุทัยรัตนกิจ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 0-4 ปี ในประเทศไทยมากกว่า 1 ใน 5 คนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แม้พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากครอบครัวยากจน ต้องทำมาหากินทั้งคู่ จึงต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายหรือสมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัวในจังหวัดบ้านเกิด


          สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลกระทบเรื่องภาวะไม่พร้อมเรียน รวมถึงการหลุดออกนอกระบบตั้งแต่วัยเยาว์ ในระยะยาวหากแก้ไม่ได้ เด็กกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่วัฏจักรความยากจนข้ามชั่วคน เพราะเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่างกัน ด้วยสภาพดังกล่าวศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของครอบครัวกลุ่มนี้ในการดูแลเด็กๆ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายหรือถ้ามีก็นับว่าน้อยมาก


          ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กปฐมวัย อายุ 2-6 ปี อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 829,645 คน และเด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี เรียนในระดับอนุบาลจำนวน 1,813,711 คน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนอายุ 6 ปีบริบูรณ์ มีพัฒนาการล่าช้าถึง 30% ของเด็กในกลุ่มอายุดังกล่าว


          เรื่องนี้ถือเป็นภาวะวิกฤติของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เพราะการลงทุนพัฒนาในเด็กปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคต 7-10 เท่า จากข้อมูลของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย พบหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย คือ คุณภาพของครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย


          ขณะนี้ กสศ.อยู่ระหว่างการเปิดรับข้อเสนอจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย จากคณะบุคคล สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิชาการ และหน่วยงานที่มีความสนใจ มาร่วมวิจัยและพัฒนาข้อเสนอการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูฯ นำเสนอต่อ กสศ. เพื่อพัฒนาสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาต่อไปในอนาคต เปิดรับข้อเสนอถึง 8 สิงหาคม สอบถามได้ที่ 09-5532-8839


          เตรียมพ่อแม่พัฒนาปฐมวัย
          นโยบายรัฐบาลเขียนไว้ว่าการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัยส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยการจัดให้มีระบบพัฒนาเด็กแรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึงเด็กวัยเรียนให้มีโอกาสพัฒนาตามศักยภาพ เพื่อสร้างคนไทยที่มีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพผ่านครอบครัวที่อบอุ่นในทุกรูปแบบครอบครัว เพื่อส่งต่อการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพสู่การพัฒนาในระยะถัดไปบนฐานการให้ความช่วยเหลือที่คำนึงถึงศักยภาพของครอบครัวและพื้นที่


          เตรียมความพร้อมการเป็นพ่อแม่ ความรู้เรื่องโภชนาการและสุขภาพการอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยผ่านการให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาและผู้ดูแลเด็กปฐมวัยให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญต้องส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยคำนึงถึงพหุปัญญาที่หลากหลายของเด็กแต่ละคนให้ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ผ่านการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบโรงเรียนปกติที่เป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจน


          7รูปแบบจัดการศึกษาปฐมวัย
          1.แบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์
          ทำให้เด็กเก่ง ฉลาด แข็งแรง มีความคิดด้านบวก มีน้ำใจ และมีความสุขเช่น ได้เรียนรู้จากคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูที่อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และเป็นมิตร จะทำเกิดการพัฒนาเซลล์ประสานประสาทจะเกิดในช่วงเด็กเล็กๆพัฒนามากขึ้น

          2.แบบพหุปัญญา
          เด็กๆ แต่ละคนมีความแตกต่างในความฉลาดแต่ละด้านมากน้อยต่างกันหากพ่อแม่และครูเข้าใจจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กทุกคนตามความสนใจ ทำให้รักในการเรียนรู้ การทำงาน และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

          3.แบบวอลดอร์ฟ
          การจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับอายุและความสามารถตามวัยของเด็ก ให้เกิดความสมดุลกัน เกณฑ์อายุในระดับอนุบาล เด็กๆ รับรู้ด้วยสัมผัสรู้ที่ผิวกาย สัมผัสรู้พลังชีวิต สัมผัสรู้การเคลื่อนไหว สัมผัสรู้ความสมดุล จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อครูนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมให้เด็ก

          4.แบบเรกจิโอ เอมิเลีย
          เด็กทุกคนมีความสามารถภายในตัวเองติดตัวมาแล้ว ทุกคนดึงศักยภาพที่อยู่ภายในตัวของเด็กให้ออกมาให้ได้อย่างเต็มที และเด็กทุกคนสามาเรียนรู้ไปด้วยกันได้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในรูปแบบของตน

          5.แบบโครงการ
          ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้ทักษะที่มีอยู่เด็กในงานและกิจกรรมที่ทำ ได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ส่งเสริมให้เด็กมีวิธีการทำงานอย่างมีแบบแผนสามารถนำรูปแบบการสืบค้นความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง

           6.แบบไฮสโคป
          การสอนจึงมุ่งจำเพาะไปที่พัฒนาเด็ก ใจเด็ก และอนาคตเด็กกระบวนการและวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้เปิดกว้างมีการวางแผน การปฏิบัติ และการทบทวนเมื่อทำกิจกรรมแล้วเด็กสามารถที่คิดกิจกรรมอื่นต่อเนื่องได้ตามความสนใจ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ครูกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมให้มากที่สุด

          7.แบบมอนเตสเซอรี่
          คำนึงถึงความสนใจ ความต้องการและความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ของเด็กและยึดหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ จัดสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะกลไกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า รู้จักควบคุมการทำงานด้วยตัวเอง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ