Lifestyle

ดึงคนรุ่นใหม่เข้าถึง"ผ้าไทย"เน้นร่วมสมัยสร้างรายได้สู่สากล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected]

 

 

          เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2562 กระทรวงวัฒนธรรม, มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จับมือภาคเอกชน ข้าวตราฉัตรและไอคอนสยาม เตรียมจัดงาน “ทรัพย์แผ่นดิน ศิลป์สยาม : Thai Treasures” นิทรรศการแสดงสมบัติของชาติไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ที่ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรงช่วยเหลือราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ให้มีอาชีพเสริมด้วยการทอ “ผ้าไหม” เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เป็นการสืบสานภูมิปัญญาทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังทรงส่งเสริมให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล

 

ดึงคนรุ่นใหม่เข้าถึง"ผ้าไทย"เน้นร่วมสมัยสร้างรายได้สู่สากล

 

 

          นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่อง “ข้าว” พืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศที่ผูกพันกับคนไทยมายาวนาน โดยพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้หน่วยราชการรับไปดำเนินการนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ชาวนาชาวไร่ในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ “อยู่ดี กินดี มีความสุข” ทั้งนี้งาน “ทรัพย์แผ่นดิน ศิลป์สยาม : Thai Treasures” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–12 สิงหาคม ณ ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร


          อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ผ้าไหม เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาไทยอันล้ำค่าของชาติ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรงช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเสริม เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วยงานศิลปหัตถกรรม ทรงส่งเสริมให้ราษฎรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สนับสนุนอาชีพด้านหัตถกรรมทอผ้าไหม ทำให้ราษฎรมีรายได้และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นการสืบสานภูมิปัญญาทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น อนุรักษ์ลวดลายผ้าทอในแต่ละภูมิภาคไม่ให้สูญหายไป และสร้างสรรค์ผ้าไหมไทยให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน

 

 

 

ดึงคนรุ่นใหม่เข้าถึง"ผ้าไทย"เน้นร่วมสมัยสร้างรายได้สู่สากล

 


          กระทรวงวัฒนธรรมร่วมมือกับดีไซเนอร์ชื่อดังของเมืองไทย นำผ้าไหมไทยมาออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความร่วมสมัย สวมใส่ในชีวิตประจำวัน และสามารถจำหน่ายได้ในระดับสากล เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นที่จะผลักดันนักออกแบบและผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นโลก

 



          ในงานนี้จะมีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมไทยร่วมสมัย ผลงานการออกแบบของ เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์มากฝีมือเจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert และเคนโกะ คุมะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนดังระดับโลก มีสไตล์การออกแบบผสมผสานความเป็นธรรมชาติเข้ากับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มาร่วมสร้างสรรค์ออกแบบเวที ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ในรูปแบบของนาขั้นบันได ประดับตกแต่งด้วยต้นข้าวและรวงข้าวสีทอง ซึ่งมีความสวยงามและโมเดิร์นผสมผสานความเป็นไทยได้อย่างลงตัว


          นอกจากนี้ ยังมีโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศเส้นทางญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ออกแบบโดย Hook's by Prapakas โดยใช้ ผ้า “อัศจรรย์ Silk” ซึ่งเป็นผ้าไหมที่ทอกับเส้นใยรีไซเคิลแอนตี้แบคทีเรีย (Perma) นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของคนไทย ในครั้งนี้มีการนำเสนอการทอเส้นใย Perma 3 แบบคือ 1.ทอมือกับเส้นไหม โดยเติมเต็มสตูดิโอ 2.ทอมือกับฝ้าย โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 3.ถักเครื่องกับ Eri Silk โดย บริษัท ก้องเกียรติ เท็กซ์ไทล์ จํากัด โดยผู้ที่สวมชุดนี้เดินแบบคือ มิสยูนิเวิร์สญี่ปุ่น ปี 2018 ยูมิ คาโตะ

 

 

 

ดึงคนรุ่นใหม่เข้าถึง"ผ้าไทย"เน้นร่วมสมัยสร้างรายได้สู่สากล

 


          ตัวแทนของกลุ่มผ้าไหม ทวี สุขโข ประธานกลุ่มวัฒนธรรมบ้านดอนข่า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า  ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของกลุ่มคือ ผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผ่านกระบวนการหมักสมุนไพรอย่างกระเจี๊ยบซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้สีสันสวยงาม ผ่านกระบวนการย้อมแบบย้อมเย็น และใช้วิธีการมัดหมี่ ปัจจุบันกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโขได้มีวิวัฒนาการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตผ้าของชาวบ้านบ้านดอนข่า และการผสมผสานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วมกันส่งเสริมผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้มีการพัฒนาตราสินค้าเพื่อการส่งออกในนาม “มาคา” คงไว้ด้วยอัตลักษณ์ผ้าไหมมัดหมี่แบบอีสานโบราณ


          “ปัจจุบันนี้ได้เปิดสอนให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจผ้าไหมมัดหมี่ร่วมสมัย เป็นการดึงให้พวกเขาเข้าถึงผ้าไหมไทยได้ปีละ 60 รุ่น รุ่นละ 30 คน เมื่อทำให้สนใจได้ก็จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ร่วมสมัยและสร้างรายได้เป็นอาชีพได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ลูกสาว ผลิตผ้าไหมไทยร่วมสมัยภายใต้แบรนด์ elazon ขึ้นมา โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดได้ในเร็วๆ นี้” ทวีกล่าว


          เขามองว่าตลาดผ้าไหมไทยยังเติบโตได้อีกมาก แต่จะต้องทำให้ผ้าไหมไทยอยู่ในชีวิตประจำวันคนไทยให้มากขึ้น เช่น ทำลวดลายให้ทันสมัย ออกแบบให้ร่วมสมัย แปรรูปให้เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มากกว่าการสวมใส่เพียงอย่างเดียว อาจจะพัฒนาไปเป็น ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน หรือของใช้อื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งจะทำให้เป็นที่ต้องการของตลอด เข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับ เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้มากขึ้นด้วย 

 

 

 

ดึงคนรุ่นใหม่เข้าถึง"ผ้าไทย"เน้นร่วมสมัยสร้างรายได้สู่สากล

 


          ฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจข้าวและอาหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ข้าวตราฉัตร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยปลูก “ข้าว” ประมาณ 50 กว่าล้านไร่ ซึ่งพันธุ์ข้าวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็คือ ข้าวหอมมะลิ มีเมล็ดขาว สวย ยาวเรียว เมื่อหุงสุกจะได้ข้าวสุกที่อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม นี่คือเอกลักษณ์ข้าวไทย ที่ยังไม่มีข้าวประเทศอื่นๆ สามารถพัฒนาให้เหมือนได้ และทำให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่นิยมของทั่วโลก


          ในโอกาสสำคัญนี้ มูลนิธิข้าวไทยฯ นำพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือ ข้าวหอมมะลิ 105, พันธุ์ข้าว กข 43, พันธุ์ข้าวกล้อง, พันธุ์ข้าวขาวนาปรัง, พันธุ์ข้าวหอมปทุมธานี, พันธุ์ข้าวก่ำพะเยา หรือ ข้าวเหนียวดำ, พันธุ์ข้าวบืนก๋ามะ, พันธุ์ข้าวสังข์หยด มาร่วมจัดนิทรรศการ เพราะคนไทยมีความผูกพันกับข้าวมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งนิทรรศการนวัตกรรมข้าวไทยหลากหลายชนิด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าแห่งวิถีชีวิตของคนไทย ที่มุ่งปลูกข้าวใช้เพื่อการบริโภค จนเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก


          5ชุมชนต้นแบบผ้าไหมไทย 
          ภายในงานทรัพย์แผ่นดิน ศิลป์สยาม : Thai Treasures มีการสาธิตและจำหน่ายผ้าไหมคุณภาพเยี่ยมจาก 5 ชุมชน ได้แก่

          0 “ผ้าไหมบ้านครัว” การทอผ้าไหมเป็นวัฒนธรรมการทอผ้าแต่เดิมของชาวเขมรจามที่อพยพเข้ามาอยู่ตามแนวคลองแสนแสบ ตั้งแต่สะพานหัวช้าง จนถึงวัดพระยายัง เรียกว่า “บ้านครัว” ผ้าไหมบ้านครัว ได้เริ่มทอใช้กันตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 1 มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นโดยเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ เส้นไหม และสีย้อม เพื่อนำมาทอผ้าไหมเกรด A และได้มีการพัฒนาลายผ้าไหมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแปลกใหม่ร่วมสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด ได้รับเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ตรานกยูงพระราชทาน Thai silk นกยูงสีน้ำเงิน, โอท็อป 5 ดาว, และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

 

 

 

ดึงคนรุ่นใหม่เข้าถึง"ผ้าไทย"เน้นร่วมสมัยสร้างรายได้สู่สากล

 


          0 กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข - “ไหมดี สีกินได้” จากชุมชนทอผ้าไหม จังหวัดขอนแก่น เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านดอนข่า รวมกันผลิตและจำหน่ายผ้ามัดหมี่ลายโบราณที่สืบทอดภูมิปัญญาอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษกว่า 200 ปี ลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวดอนข่าที่ได้รวมลาย 9 ลาย เข้าไว้ด้วยกัน แล้วตั้งชื่อว่า “ผ้าไหมลายนพเกล้าเฉลิมพระเกียรติ” มีวิวัฒนาการพัฒนาแบบต่อเนื่องทั้งด้านการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มใช้เส้นไหมออร์แกนิก (ไหมดี) ซึ่งในแต่ขั้นตอนการผลิตการย้อมเส้นไหมที่จะใช้วิธีการย้อมแบบย้อมเย็นไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง สีที่นำมาย้อมก็นำมาจากวัสดุธรรมชาติ (สีกินได้) พัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งออกภายใต้แบรนด์สินค้าใหม่ชื่อว่า “มาคา” (MAKA Brand) แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ผ้าไหมมัดหมี่แบบโบราณท้องถิ่นอีสาน ด้วยการทำมือ


          0 ชุมชนห้วยไซสุขสวัสดิ์ - “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ผ้ายกเป็นผ้าโบราณที่อดีตใช้ในคุ้มเจ้าหรือในพระราชสำนัก โดยจะทอผ้าไหมยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ใช้กี่พื้นเมือง (กี่กระทบหรือกี่มือ) ซึ่งมีทั้งกี่พื้นเมืองโบราณและกี่พื้นเมืองประยุกต์ สร้างสรรค์เป็นลวดลายที่หลากหลายตามแต่จินตนาการ นำรูปแบบของธรรมชาติมาดัดแปลงออกแบบ เช่น ลวดลายของดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ รวมถึงการนำลวดลายรูปทรงเรขาคณิตและลายไทย มาผสมกลมกลืนกันและมีการประยุกต์ให้มีลวดลายที่หลากหลาย ปัจจุบันพัฒนาลวดลายให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับตลาดผ้าทอที่ปัจจุบันกำลังเริ่มได้รับความนิยมตามกระแสแห่งการอนุรักษ์ งานฝีมือจากธรรมชาติ


          0 กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านท่ากระจาย สุราษฎร์ธานี  
          จากภูมิปัญญาโบราณสืบสานประเพณีผ้าพื้นบ้านไทยมุสลิมจากรุ่นสู่รุ่น จุดเด่นอยู่ที่ลวดลายโบราณ กรรมวิธีการทอผ้า ที่เรียกว่า ‘ทอกี่กระทบ’ ที่ต้องทออย่างประณีตบรรจงและไม่รีบร้อน เพื่อให้ผ้าที่ได้มีความแน่น ละเอียด สร้างความโดดเด่น งดงาม ให้แก่ผืนผ้า ปัจจุบันด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนยังคงต้องการดำรงรักษาวัฒนธรรมของชุมชนตนเอาไว้ ทำให้ธุรกิจผ้าทอบ้านท่ากระจายคงยืนหยัดและเป็นมรดกของแผ่นดินถิ่นใต้มาอย่างยาวนาน


          0 กลุ่มอาชีพทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย 
          ทอผ้าไหมมัดหมี่มาไม่น้อยกว่า 200-300 ปี ปัจจุบันมีการพัฒนาสีสัน ลวดลายตามธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิถีชีวิตโบราณสืบสานสู่ผืนผ้าไหม ด้วยการนำวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ ที่มีในหมู่บ้านทั้งจากพืช เช่น รากไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผล เปลือกผล และเมล็ด จากสัตว์ เช่น ครั่ง และจากแร่ธาตุ เช่น ดินโคลน ดินลูกรัง สนิมเหล็ก สนิมทองแดง มาใช้ในการย้อม หรือสารที่ช่วยในการย้อมสีเส้นไหม


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ