Lifestyle

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 

 

          5 หน่วยงานจัดการแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย  สร้างความแข็งแกร่งกำลังคนรับอุตสาหกรรม 4.0 ประเดิมหุ่นยนต์ประกอบอาหาร บูรณาการหลายศาสตร์เขียนโปรแกรม นำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในด้าน Food Science  ที่สามารถควบคุมความสะอาด รสชาติได้แน่นอน ผลิตเป็น Mass Product ฮาลาลส่งออกต่างประเทศได้

 

 

          จากความต้องการพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 มีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่าแรงและการแข่งขันในต่างประเทศที่สูงขึ้น การยกระดับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต ขณะที่เด็กเจเนอเรชั่นใหม่กลับให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีน้อยลง การเตรียมความพร้อมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้สูงขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ในการพัฒนาและกระตุ้นการผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเอง และมองเห็นเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น

 

 

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

 


          ล่าสุด 5 หน่วยงาน อาทิ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (สจด.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน (สปท.) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ลงนามความร่วมมือ จัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 2nd) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานเวิลด์ไดแด็คเอเซีย

 

 

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

 


          รศ.ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในฐานะเจ้าภาพและตัวแทนอุดมศึกษา กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 ณ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาว่า รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และกำหนดให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม

 

 

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

รศ.ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ



          “การจัดการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษา มีความรู้และทักษะในการควบคุมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมโลหะ การประกอบอาหารด้วยหุ่นยนต์ การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์ และการควบคุมระบบอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพของครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของสถานประกอบการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมความแข่งแกร่งให้แก่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีในอนาคต” รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าว


          ทั้งนี้ การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2561 มีการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ การควบคุมระบบอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม, การควบคุมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมอุตสาหกรรม และการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยมีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 181 ทีม จำนวนนักศึกษา 543 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 181 คน รวมมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 724 คน สำหรับการแข่งขันในปีนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเตรียมความพร้อมให้ทุกทีมได้มีความรู้และทักษะที่มากขึ้น โดยการเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละทีม จาก 1 คน เป็น 2 คน และเพิ่มประเภทอีก 1 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์ประกอบอาหาร (ผัดไทย) รวมเป็น 4 ประเภท

 

 

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

 


          นายเสถียร ธัญญศรีรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า หุ่นยนต์ประกอบอาหาร เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เนื่องจากต้องใช้การบูรณาการหลายศาสตร์ในการเขียนโปรแกรม ต้องใช้ความแม่นยำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในด้าน Food Science


          “อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจ เพราะประเทศไทยส่งออกไปทั่วโลก ดังนั้น การนำหุ่นยนต์มาใช้ จะช่วยในเรื่องการควบคุมความสะอาด ควบคุมรสชาติที่แน่นอน เพื่อผลิตเป็นแมส โปรดักท์ รวมถึงผลิตอาหารฮาลาล ส่งออกต่างประเทศ” นายเสถียร กล่าว


          ขณะนี้มีผู้สมัครทั้ง 4 ประเภท ในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา จำนวน 222 ทีม รวม 1,125 คน แบ่งเป็น ประเภทที่ 1 การควบคุมระบบอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม ระดับอุดมศึกษา 19 ทีม จำนวน 76 คน อาชีวศึกษา 63 ทีม จำนวน 252 คน ประเภทที่ 2 การควบคุมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมอุตสาหกรรม ระดับอุดมศึกษา 3 ทีม จำนวน 18 คน อาชีวศึกษา 62 ทีม จำนวน 372 คน  ประเภทที่ 3 การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับอุดมศึกษา 2 ทีม จำนวน 10 คน อาชีวศึกษา 41 ทีม จำนวน 205 คน และประเภทที่ 4 หุ่นยนต์ประกอบอาหาร (ผัดไทย) ระดับอุดมศึกษา 4 ทีม จำนวน 24 คน อาชีวศึกษา 28 ทีม จำนวน 168 คน

 

 

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

 


          ทั้งนี้ ผู้แข่งขันจะต้องเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมทดสอบ เพื่อคัดเลือกเข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จะจัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กำหนดให้ใช้เวลาการอบรมเชิงปฏิบัติการ ประเภทละ 5 วัน อบรมพร้อมกันทั้งระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา และจะต้องอบรมให้ครบตามที่กำหนด


          ภูษิต ทำนา พร้อมด้วย วรวัชร จุลเจิม และ พุฒิรักษ์ พุกกะณะสุต  3 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา หนึ่งในทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน ประเภทที่ 3 การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เล่าว่า หุ่นยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ รวมถึงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่เราสามารถเรียนรู้ได้ จึงตัดสินใจลงสมัครแข่งขันเพื่อทดลอง และเป็นการหาประสบการณ์ให้กับตัวเอง 


          การแข่งขันครั้งนี้ อย่างน้อยทำให้ได้ประสบการณ์ ในการคิดค้น ออกแบบ ให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ จะพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อประสบการณ์ เพราะอนาคตหุ่นยนต์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตของเราหลายๆ ด้าน บางอย่างต้องใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งเราต้องสามารถประยุกต์ใช้ได้ และไม่กลัวว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ เพราะอย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ก็ต้องมีคนควบคุม ดังนั้น เมื่อเรามีประสบการณ์ตรงนี้ ถือว่ามีโอกาสมากกว่า

 

 

แข่งหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวะ

 


          ด้าน ภคนันท์ นาคประสิทธิ์  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาออโตเมชั่น สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตัวแทนทีมผู้เข้าร่วมแข่งขันประเภทที่ 4 หุ่นยนต์ประกอบอาหาร (ผัดไทย) กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ทำผัดไทย ต้องควบคุมเครื่องในการประกอบอาหาร ควบคุมอุณหภูมิในการผัดไม่ให้เส้นดิบหรือสุกจนเกินไป รวมถึงคำนวณวัตถุดิบต่างๆ ว่าต้องใช้ในปริมาณเท่าใด โดยวันแข่งจะมีเครื่องของทางส่วนกลาง ให้เราไปควบคุมเพื่อทำผัดไทยออกมา เนื่องจากเป็นการแข่งขันประเภทใหม่ น่าสนใจ จึงอยากจะทดสอบเพื่อหาประสบการณ์


          ทั้งนี้ ภายในงานเวิลด์ไดแด็คเอเซีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9–11 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ถือเป็นงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการศึกษาสำหรับกลุ่มอาชีวศึกษากว่า 19 ประเทศ และพาวิลเลียนจากประเทศเยอรมนี เกาหลี จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่มาจัดแสดงภายในงาน เพื่อเปิดโลกทัศน์ด้านสื่อการเรียนการสอนใหม่ให้กับผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถพร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 หรือโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากสถานประกอบการชั้นนำทั่วโลก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ