Lifestyle

สถาบันกวดวิชาเถื่อนซ้อมเด็กตายสช.คลีนซิ่ง–โทษทั้งจำทั้งปรับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร[email protected]

 

 

          “ถ้ามีผู้เรียนเกิน 7 คน ขอให้มาขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา” ชลำ อรรถธรรม

 

          จากสถาบันให้ความรู้กลายเป็นสถาบันเถื่อน เมื่อเด็กเข้าไปเรียนเพื่อเพิ่มเติมทักษะวิชา สานฝันที่ตนเอง ครอบครัวต้องการ แต่กลับพบกับความโหดร้ายทารุณจนนำไปสู่การเสียชีวิต อย่างกรณี “น้องชายแดน” นายฐปกร ทรัพย์สิน อายุ 15 ปี ได้สมัครและพักอาศัยเพื่อศึกษาและเตรียมตัวสอบนักเรียนเตรียมทหาร ของสถาบันกวดวิชาบ้านพี่ณัฐ ในหมู่บ้าน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ผู้ที่ทำให้น้องชายแดนต้องตาย กลับเป็นครูผู้สอน “ครูณัฐ” ณัฐพล ถาวรพิบูลย์ อายุ 27 ปี เจ้าของสถาบันกวดวิชาบ้านพี่ณัฐ ปัจจุบันถูกจับกุม พร้อมกับภรรยา และแม่ยาย ด้วยเหตุร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

 

 

          หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หน่วยงานต้นสังกัดในการดูแลโรงเรียนกวดวิชาได้มีการตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง และคลีนซิ่งโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศ ซึ่งจากการรายงานข้อมูลเบื้องต้น พบว่าสถาบันกวดวิชาบ้านพี่ณัฐ เป็นสถาบันที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง มีการเปิดสอนมาประมาณ 2 ปี 


          โดยก่อนหน้านี้เปิดสอนอยู่อีกที่หนึ่งก่อนจะย้ายมายังหมู่บ้านดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เปิดรับนักเรียนมากกว่า 7 คน มีการโฆษณาว่าโรงเรียนกวดวิชาผ่านการขอใบอนุญาตจาก สช.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นหลักสูตรตามใจชอบ มีการสอนฝึกปฏิบัติ วิชาหลักสูตรแกนกลาง คณิตศาสตร์ สอนภาษาอังกฤษ และสอนฟิสิกส์ ค่าเล่าเรียน ประมาณ 250,000 บาทต่อปี 


          ส่วนการเรียนนั้นแล้วแต่เด็กว่าจะเรียนกี่ปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีเด็กหลายคนที่เข้าเรียนในสถาบันดังกล่าวสามารถสอบติดทหารได้ตามที่ต้องการ ฉะนั้น เด็กที่มาเรียนสถาบันกวดวิชาดังกล่าว ส่วนหนึ่งมีความตั้งใจจะสอบเข้าทหาร และบางส่วนเป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครองในการส่งลูกมาเรียน


          ชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้ดำเนินการตามคดีอาญาเนื่องจากมีเด็กเสียชีวิต และในส่วนของ สช.นั้น จะดำเนินการตามระเบียบพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สถานศึกษาที่มีนักเรียนรวมกันไม่เกิน 7 คน แต่สถาบันกวดวิชาบ้านพี่ณัฐ มีนักเรียนมากกว่า 7 คน ถือเป็นการเปิดโรงเรียนกวดวิชาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 




          นอกจากนี้ ยังผิดมาตรา 94 การโฆษณาของโรงเรียนในระบบต้องไม่เป็นเท็จเกินความจริงหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งสถาบันกวดวิชาบ้านพี่ณัฐ ได้มีการโฆษณาว่าได้รับใบอนุญาตจัดตั้งจาก สช.เรียบร้อย ทั้งๆ ที่ไม่เคยขอรับใบอนุญาตจัดตั้ง ดังนั้น สถาบันกวดวิชาบ้านพี่ณัฐ ถือว่าผิดกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 147 ผู้ใดที่จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโดยปกติแล้วโรงเรียนนอกระบบเหล่านี้ต้องขอใบอนุญาตจัดตั้ง


          “ปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งถือเป็นโรงเรียนนอกระบบที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง 2,801 โรงเรียน โดยที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุกรณีต่างๆ ก็จะดำเนินการแก้ไขไปตามกรณีที่เกิดขึ้น และตอนนี้ทาง สช.จะแจ้งไปยังศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ให้ช่วยดูแลกวดขันโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ โดยเฉพาะการให้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตจัดตั้ง ส่วนกรณีโรงเรียนกวดวิชาถูกจับกุม ถูกดำเนินคดีแล้วจะสามารถกลับมาเปิดโรงเรียนกวดวิชาได้อีกหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาให้เป็นไปตามคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ส่วนที่ถูกจำคุกนั้น ต้องพ้นโทษมาแล้ว 5 ปี ถึงจะขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนอีกครั้งได้” ชลำ อธิบาย


          สำหรับเงื่อนไขการเปิดโรงเรียนกวดวิชา จะต้องมีการยื่นเรื่องพิจารณา ทั้งรายละเอียดเกี่ยวที่ดิน ที่ตั้ง และแผงผังแสดงบริเวณและอาคารของโรงเรียนในระบบ ซึ่งในส่วนของอาคารสถานที่นั้น ต้องไปขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่ใช่ว่าครูจะเปิดสอนตอนเย็น ตามบ้านของตัวเองได้ 


          รวมถึงหลักสูตร วิธีการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ สช.กำหนด อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นๆ และคุณสมบัติ อัตราเงินเดือน ค่าสอน ค่าชดเชย ค่าตอบแทน หลักเกณฑ์การจ้างและสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่องเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ


          ชลำ เล่าต่อไปว่า สช.มีอำนาจในการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา แต่ถ้าเป็นเงื่อนไขอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ กำหนด สช.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ เป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งดำเนินการเอง เช่น เรื่องหอพักภายในโรงเรียนกวดวิชา ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)


          “ไม่ใช่ว่าใครอยากเปิดสอนพิเศษ กวดวิชาแล้วจะเปิดได้ง่ายๆ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการเปิดโรงเรียนและสถาบันกวดวิชา อาทิ การขออนุมัติหลักสูตร หลักฐานที่ดิน อาคาร ครูผู้สอน สัญญาจ้างต้องส่งให้ สช.ตรวจสอบคุณสมบัติ ส่วนเรื่องราคา ค่าใช้จ่ายในการเรียน สช.จะพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพราะโรงเรียนกวดวิชามีความหลากหลายมาก ทั้งการสอนตัดผ้า ตัดผม ไปจนถึงการสอนเรื่องงานอิเล็กทรอนิกส์ การใช้วิชาการระดับสูง” ชลำ กล่าว


          อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการแจ้งหรือแอบเปิดโรงเรียนกวดวิชานั้น ทาง สช.จะสั่งห้ามดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง หรือให้หยุดการเรียนการสอน และแนะนำให้มาเปิดให้ถูกต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ แต่ถ้าไม่ดำเนินการ สช.จะแจ้งความดำเนินคดีทันที


          “ขณะนี้ สช.ไม่ได้มีข้อมูลชัดเจนว่ามีโรงเรียนกวดวิชาประเภททหารกี่แห่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการแอบทำ และทางศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ได้มีการสำรวจ คลีนซิ่งทั้งหมดแล้ว ขณะที่ในส่วนของกทม. ทีมงาน สช.จะมีการประชุมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการสำรวจ และคลีนซิ่งเช่นเดียวกัน ดังนั้น อยากฝากครู หรือผู้ที่เปิดโรงเรียนกวดวิชา ถ้ามีผู้เรียนเกิน 7 คน ขอให้มาขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา อย่าทำผิดกฎหมาย และผู้ปกครองหรือใครที่พบเจอโรงเรียนกวดวิชาที่เข้าข่ายว่าผิดระเบียบตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ ขอให้แจ้งมายัง สช. หรือศึกษาธิการจังหวัดแต่ละจังหวัด” ชลำ กล่าว

 


          การศึกษานอกระบบโรงเรียนเอกชน ปีการศึกษา 2561
          1.มีทั้งหมด 10,538 โรงเรียน แบ่งเป็น
          -กทม.2,863 โรงเรียน
          -ภูมิภาค 7,675 โรงเรียน
          2.จัดการเรียนการสอน
          -สอนศาสนา รวมทั้งหมด 206 โรงเรียน แบ่งเป็น กทม. 94 โรงเรียน ภูมิภาค 112 โรงเรียน
          -ศิลปะและกีฬา รวมทั้งหมด 765 โรงเรียน แบ่งเป็น กทม.363 โรงเรียน ภูมิภาค 402 โรงเรียน
          -วิชาชีพ รวมทั้งหมด 3,947 โรงเรียน แบ่งเป็น กทม.1,644 โรงเรียน ภูมิภาค 2,303 โรงเรียน
          -กวดวิชา รวมทั้งหมด 2,801 โรงเรียน แบ่งเป็นกทม.712 โรงเรียน ภูมิภาค 2,089 โรงเรียน
          -เสริมสร้างทักษะชีวิต รวมทั้งหมด 184 โรงเรียน แบ่งเป็น กทม.50 โรงเรียน ภูมิภาค 134 โรงเรียน
          -ปอเนาะ รวมทั้งหมด 511 โรงเรียน ในกทม. ไม่เปิดการเรียนการสอน ภูมิภาค 511 โรงเรียน
          -ตาดีกา รวมทั้งหมด 2,124 โรงเรียน ในกทม.ไม่เปิดการเรียนการสอน ภูมิภาค 2,124 โรงเรียน
          ที่มา: กลุ่มงานทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย.2561)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ