Lifestyle

"มหิดล-สสส."สร้างมหาวิทยาลัยสุขภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...-ปาริชาติ บุญเอก [email protected] 

 



          จากอุบัติการณ์ของโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 2 ใน 3 หรือกว่าร้อยละ 70 การสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน สังคม และประเทศ โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นจุดศูนย์กลาง จึงกลายเป็นทางออกที่จะกระจายองค์ความรู้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนที่สุด

 

 

 

 

          สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความหมายของโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ว่าเกิดจากปัจจัยภายในร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารหวานมันเค็มจัด และมีความเครียด ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) ทำนายว่าในปี พ.ศ.2573 ประชากรโลกจำนวน 23 ล้านคนจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โดยร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ “การเปลี่ยนพฤติกรรม”


          จากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การต่อยอดความร่วมมือเอ็มโอยู ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ASEAN University Network (AUN) ด้าน AUN Human Rights Education Network (AUN-HRE) และ AUN-Health Promotion Network (AUN-HPN) ร่วมกับ สสส. หลังจากมีการลงนามเอ็มโอยูในระยะแรกเมื่อปี 2559 เพื่อเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยสมาชิกที่มีกว่า 30 สถาบันใน 10 ประเทศอาเซียน มุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสุขภาพ”

 

 

 

"มหิดล-สสส."สร้างมหาวิทยาลัยสุขภาพ

 

 

          ทั้งนี้ภายใต้การร่วมมือในระยะแรกของมหิดล และสสส. มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดทำกรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ หรือ Health University Framework ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติให้มหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพได้ โดยอาศัยมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ 22 ประการ

 



 


          นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้นำด้านสร้างเสริมสุขภาพร่วมมือพัฒนาโครงการวิจัยด้านสร้างเสริมสุขภาพระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่าย พร้อมขยายเครือข่ายและแนวคิดในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยสุขภาพไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วภูมิภาคในประเทศไทย ผ่านมหาวิทยาลัยแกนนำทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ม.มหิดล จุฬาฯ ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ และม.สงขลานครินทร์ ปัจจุบันมีสมาชิกสมทบเพิ่มขึ้นอีก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ม.วลัยลักษณ์


          ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวการเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยสมาชิกเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพตามกรอบ Health University Framework ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ศาลายา ว่าการป้องกันโรค NCDs ดูเหมือนง่าย แต่ทำได้ยากเนื่องจากต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องใช้หลายมาตรการเข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นกลไกถาวร หากเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพฝังอยูในระบบนั้นหมายความว่าจะมีการปลูกฝังองค์ความรู้ผ่านนโยบายและการอบรมให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาศึกษาในทุกๆ ปี ก่อให้เกิดกลไกที่ต่อเนื่องและยั่งยืน


          “การต่อยอดขยายความร่วมมือระหว่างมหิดล และสสส. ในปีนี้จะมีการเดินหน้านำกรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพไปใช้ พร้อมมีการประเมินผลการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยระบบติดตามและประเมินผลที่เรียกว่า ASEAN Rating On Health University (ARSU) พร้อมมุ่งมั่นขยายเครือข่ายและแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพไปสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งสู่การลดปัจจัยเสี่ยงของโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรังนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนต่อไป”


          ด้าน ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผล ASEAN Rating On Health University (ARSU) กล่าวว่า การติดตามและประเมินผลมหาวิทยาลัยสุขภาพผ่านกรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพมีทั้งหมด 22 ประการ ครอบคลุมทั้ง ระบบและโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ นโยบายอาคารปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคของผู้พิการ หลักสูตร งานวิจัย อาสาสมัคร และงบประมาณที่สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ


          กิจกรรมที่ควรดำเนินการ สู่การลดละเลิก เช่น ควบคุมการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด การพนัน ความรุนแรง ความปลอดภัยบนท้องถนนในสถานศึกษา รวมถึง การส่งเสริมสุขภาพ อาทิ ให้ความรู้ด้านสุขภาพกายและสุขภาวะทางจิต การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ด้านโภชนาการ พฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย และความสมดุลของชีวิต


          “สำหรับกระบวนการชี้วัดในระยะแรกจะมีคะแนนกรอบทั้ง 22 ประการ ทั้งหมด 1,000 คะแนน โดยให้ทางมหาวิทยาลัยประเมินตนเองแต่ละข้อผ่านระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมประมวลผลและสะท้อนออกมาเป็นภาพรวม วิเคราะห์ศักยภาพในแต่ละด้าน และเทียบกับค่าคะแนนมาตรฐานเพื่อคำนวณออกมาในระดับ 1-5 ดังนั้นในช่วงแรกจะเป็นการผสมผสานระหว่างการประเมินวิเคราะห์และส่งหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ มาที่สำนักงานเลขาธิการเครือข่ายเพื่อพิจารณาและยืนยันกับคะแนนที่วิเคราะห์ได้”


          “ขณะที่มหาวิทยาลัยที่ได้ 5 ดาว จะมีผู้ทรงคุณวุฒิในเครือข่ายร่วมกันไปประเมิน ติดตามผล ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือให้มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นสู่การส่งเสริมสุขภาพที่ดี ได้เห็นถึงพัฒนาการและแข่งขันกับตัวเองในการยกระดับความต่อเนื่อง หลังจากนั้นจะมีการนำมหาวิทยาลัยที่ได้อันดับสูงๆ ร่วมแลกเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมถึงพัฒนาสู่งานวิจัยเพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนต่อไป” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว


          ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน (ASEAN University Network : AUN) กล่าวว่า ด้วยศักยภาพและความพร้อมของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าว มั่นใจว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะสามารถขับเคลื่อนและเป็นผู้นำสร้างศักยภาพให้แก่มหาวิทยาลัยเครือข่ายให้เป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ มีการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติ ครอบคลุมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน และการบริหารงานในสถาบันการศึกษาตามกรอบแนวคิดที่มีการรวบรวมข้อมูลมาเป็นแนวทางปฏิบัติ สร้างเกณฑ์มาตรฐานและกำหนดตามแนวทางการประเมิลผลที่บ่งชี้ถึงระดับความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป


          ด้าน ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของงานสร้างเสริมสุขภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-HPN) ซึ่งถือเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยและภาคี ในการร่วมมือส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากอันตรายของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ด้วยการกระตุ้นและสร้างความตระหนักถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงชุมชนใกล้เคียง ขณะที่การพัฒนาระบบติดตามประเมินผล ARSU จะสามารถเป็นเครื่องมือช่วยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามกรอบแนวคิด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลย้อนกลับเพื่อพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพในระดับมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ