Lifestyle

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

 

          “ปรับวิธีให้นักเรียนเป็นผู้นำให้ชั้นเรียนเป็นห้องเรียนของเขา จะกล้าที่จะพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น-ชมพูนุท โนนทนวงษ์

 

          หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้บรรจุพีแอลซี เข้ามาเป็นนโยบายกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาครู แบ่งปันองค์ความรู้ ติดตาม ประเมินผลระหว่างครูด้วยกันผ่านโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จนเกิดเครือข่ายกว่า 108 เครือข่าย 504 โรงเรียนทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงในพื้นที่ทั้งหมด 15 แห่งทั่วประเทศ

 

 

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 

 

          ล่าสุดมีการถอดบทเรียนโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา พื้นที่ต้นแบบใน จ.ขอนแก่น หรือ “ขอนแก่นโมเดล” ที่ได้สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) หรือ PLC ในปี 2560 และได้รับทุนสนับสนุนจากคุรุสภาในปี 2561 โดยใช้รูปแบบใหม่อย่าง “School Improvement Network” การทำงานร่วมกันระหว่างสำนักการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และพี่เลี้ยงในเครือข่าย

 

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 


          ทั้งนี้โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียน 350 คน ครู 29 คน ครูผู้ช่วยอีก 5 คน ได้นำร่องพีแอลซี ในห้องเรียนทดลองรายวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้อง จากทั้งหมด 3 ห้อง โดยมี ครูชมพูนุท โนนทนวงษ์ เป็นโมเดลทีชเชอร์ และ ครูปวีณา โพธิ์ศรี ครูผู้ช่วยเป็น บัดดี้ทีชเชอร์ ร่วมสังเกตการณ์และวางแผน พร้อมด้วยครูจากสาระภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ ร่วมสังเกตการณ์เพื่อดูพัฒนาการทางด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์ของเด็ก ผ่านการผลักดันจากฝ่ายบริหารและศึกษานิเทศก์ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมนโยบายภาครัฐ สถานศึกษา และครูเข้าด้วยกัน

 

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 

 

          วินัย รุมฉิมพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ในฐานะหัวเรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง มองว่าพีแอลซี คือชุมชน ต้องให้ครูร่วมกันคิด วางแผน รับผิดชอบ และพัฒนาต่อยอดไปยังนักเรียนได้ ในบทบาทของผู้บริหาร บอกครูเสมอว่าเป้าหมาย คือผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงจัดเวลาให้ครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ร่วมสังเกตห้องเรียน วิเคราะห์ปัญหา วิพากษ์ และปรับปรุงแผนด้วย 3 ขั้นตอน คือ PLAN (วางแผน) DO (ปฏิบัติ) SEE (สะท้อนผล) โดยในชั่วโมงพีแอลซี จะแบ่งนักเรียนเป็น 6 กลุ่ม และมีครูผู้สังเกตชั้นเรียน 6 คน สังเกตเด็กเป็นรายคน จดบันทึก เพราะฉะนั้นครูจะรู้จักเด็กทุกคนเป็นอย่างดี

 



    

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 


          “ครูทุกคนต้องกล้าเปิดใจ สร้างและร่วมกันเป็นทีมเพื่อไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เช่น กรณีครูชมพูนุท สอนในห้องและยืนบังเด็กนักเรียน หรือในบางครั้งตัว ผอ.เองพูดยาวเกินไป จะปรับแก้ไขเป็นผู้บริหารก็ต้องรับฟัง เชื่อว่าในห้องถ้ามีการสอนและได้ใจเด็ก เด็กจะเชื่อใจ และเกิดการพัฒนา” ผอ.กล่าว

 


          สำหรับโมเดลทีชเชอร์  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจกรรม ต้องรู้บทบาทของความเป็นครู บทบาทของนักเรียน และสามารถดึงศักยภาพของเด็กออกมาให้ได้เท่าเทียมกันมากที่สุด   ชมพูนุท โนนทนวงษ์ ครูวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ในฐานะโมเดลทีชเชอร์ เล่าว่า จากการคลุกคลีกับเด็กชั่วโมงพีแอลซี คาบเสริมทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ พบว่านักเรียนไม่กล้าแสดงออก และกลัวการเขียนผิด ปรับวิธีให้นักเรียนเป็นผู้นำ ให้ชั้นเรียนเป็นห้องเรียนของเขา จะกล้าที่จะพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น ห้องเรียนพีแอลซี จะสลับเด็กอ่อนสุดและปานกลางเป็นผู้นำด้วยสลับกับเด็กเก่งเพื่อให้เขาเกิดการเรียนรู้  มีกระบวนการหลอมนักเรียนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก จากการเขียน การพูด นำไปสู่การเรียนรู้มากขึ้น ช่วยให้นักเรียนมีตัวตนในชั้นเรียน ส่งเสริมให้มีบทบาทในชั้นเรียน และครูไม่ได้เน้นการสอนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นว่าจะดูแลเด็กอย่างไรให้เท่าเทียมกัน

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 


          ด้าน ปวีณา โพธิ์ศรี ครูผู้ช่วยวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ครูผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่าเทคนิคในการคุมชั้นเรียน การใช้กระดาน การเสริมแรงให้เด็ก ได้รู้สภาพพื้นฐานของเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถวางแผนการรับช่วงต่อในชั้นม.2 ได้ โดยในบันทึกจากการเป็นผู้สังเกตการณ์สามารถวิเคราะห์ได้เป็นรายบุคคล ครูทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม พีแอลซี จะรู้จักเด็กทุกคนแม้ครูจะสอนชั้นม.6 ก็ตาม ทำให้ได้เรียนรู้นักเรียนและนักเรียนก็ได้เรียนรู้ครู  เด็กรู้วิธีการเข้าหาคครู ครูก็ดูนักเรียนได้ว่าแต่ละคนแนวคิดแตกต่างกัน วิธีการแก้โจทย์คณิต แต่ละคนก็จะแตกต่างกัน การที่ให้เด็กแต่ละคนออกไปนำเสนอวิธีคิดของตัวเองเพื่อให้เพื่อนได้นำไปปรับใช้และพัฒนาได้ด้วย

 

 

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 


          ทั้งนี้ ครูโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จะเข้าไปช่วยในส่วนของโรงเรียนเครือข่ายที่อยู่ในสังกัด อบจ. ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ถึงแม้ว่าโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จะมีห้องเรียนต้นแบบชั้นม.1 เพียงห้องเดียว แต่ในห้องอื่นๆ ก็มีการใช้กระบวนการเดียวกันในการสอน เพราะวิธีการนี้ดีต่อเด็ก ทั้งนี้ตั้งเป้าขยายห้องพีแอลซี จากโมเดลทีชเชอร์ ที่มีครูชมพูนุทเพียง 1 คน เพิ่มเป็น 3 คน โดยมีครูปวีณาเป็นหนึ่งในโมเดลทีชเชอร์ พร้อมเพิ่มบัดดี้ทีชเชอร์ เข้ามาสังเกตการณ์อีกในปี 2563

 

 

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 


          นอกจากนี้ยังพัฒนาครูภาษาไทยเข้าไปช่วยดูในกระบวนการ พีแอลซี เพื่อหาจุดบกพร่องของเด็กและนำไปพัฒนาเข้าโครงการอื่น เช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยใช้ 2 ชั่วโมงสุดท้ายของวันจันทร์ พัฒนาเด็กที่อ่อนภาษาไทยและเด็กคนอื่นๆ ให้เลือกกิจกรรมตามความสนใจ ซึ่งปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ถือเป็นปัญหาสำคัญกว่า 70% ของโรงเรียนในสังกัด อบจ.ขอนแก่น ทั้งหมด 20 แห่ง แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 2 แห่ง โรงเรียนขยายโอกาสอีก 1 แห่ง และโรงเรียนมัธยมศึกษา 17 แห่ง

 

 

 

 

ร.ร.พิศาลปุณณวิทยาโมเดลต้นแบบพีแอลซี 

 


          สำหรับพีแอลซี เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาซึ่งโครงการเชฟรอนฯ ได้แนะนำเทคนิคที่เรียกว่า High impact practice การสังเกตห้องเรียนเพื่อพัฒนาดึงศักยภาพเด็กออกมา ร่วมกับกระบวนการจัดการที่ช่วยให้ครูสามารถหยิบชิ้นงานของนักเรียนและติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถพัฒนาผู้เรียนในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี

 

 

          ต้นแบบพีแอลซี โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา
          - นำร่องวิชาคณิตศาสตร์ ม.1 จำนวน 1 ห้อง
          - ใช้คาบเสริมทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์
          - มีโมเดลทีชเชอร์ 1 คน และบัดดี้ทีชเชอร์ 1 คน
          - แบ่งนักเรียนเป็น 6 กลุ่ม ให้ทำงานร่วมกัน
          - สลับเด็กอ่อน ปานกลาง เป็นผู้นำ เพื่อดึงศักยภาพ
          - ให้ครูสาระวิทย์ ภาษาไทย ร่วมสังเกตการณ์
          - ครูสังเกตการณ์จดบันทึก วิเคราะห์ และร่วมวิพากษ์
          - ครูรับฟังและนำไปปรับแก้ในการสอนครั้งต่อไป
          - ครูห้องอื่นนำกระบวนการพีแอลซี ไปปรับใช้
          - พัฒนาครูภาษาไทยช่วยดูในกระบวนการพีแอลซี
          -จัดโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ พัฒนาเด็กที่อ่อนภาษาไทย
          -ส่วนเด็กอื่นๆ ให้ทำกิจกรรมที่สนใจ 2 ชั่วโมงสุดท้ายของวันจันทร์
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ