Lifestyle

ช่างเครื่องช่วยคนพิการช่วยคนจนเข้าถึง "ขาเทียม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          การต้องสูญเสียชิ้นส่วน หรืออวัยวะของร่างกายไปอย่างถาวรนั้น บางส่วนสามารถใช้อวัยวะเทียมทดแทนได้ โดยเฉพาะ “ขา” หากมีอุปกรณ์หรือขาเทียมให้ผู้พิการได้ใช้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ห่างไกลและยากจนจะช่วยให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองในการเคลื่อนไหวและทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ต่อไป 

 

 

          นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี 2562 และพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณแก่กระทรวงแรงงานที่ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการที่มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้สนับสนุนมูลนิธิขาเทียมในการฝึกอบรม “ช่างเครื่องช่วยคนพิการ” รวมถึงการกำหนดและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบัน  โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน จ.เชียงใหม่ เข้าไปสนับสนุนครูฝึกและงบประมาณ
     

 

ช่างเครื่องช่วยคนพิการช่วยคนจนเข้าถึง "ขาเทียม"

สุทธิ สุโกศล

 

 

          ซึ่งในช่วงแรกๆ การทำขาเทียมเริ่มต้นจากการทำให้กลุ่มทหารพิการจากการเหยียบกับระเบิดแล้วขยายมาช่วยในกลุ่มคนพิการทั่วไปที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่างเครื่องช่วยคนพิการหลังจากจบฝึกอบรมแล้วมูลนิธิขาเทียมจะส่งไปทำงานที่โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศกว่า 90 แห่ง ทำให้ผู้จบหลักสูตรมีงานทำมั่นคง โดยในปีที่ผ่านมาผลิตช่างทำขาเทียมไปแล้ว 63 คน ผ่านการทดสอบมาตรฐานแล้ว 50 คน 
    

          อย่างไรก็ตามมูลนิธิขาเทียมไม่สามารถผลิตและพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการได้เพียงพอต่อความต้องการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ จึงร่วมจัดทำโครงการฝึกอบรมช่างเครื่องช่วยคนพิการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้เพียงพอและสามารถบริการคนพิการได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในสาขาดังกล่าวให้สามารถนำไปประกอบอาชีพและส่งแรงงานที่มีทักษะเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชน จึงทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคงทุกคน

 

 

ช่างเครื่องช่วยคนพิการช่วยคนจนเข้าถึง "ขาเทียม"


     

          โดยกพร.จะทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงานในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบการฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ กพร.ได้ยกระดับฝีมือช่างเครื่องช่วยคนพิการจำนวน 305 คน สามารถทำขาเทียมให้คนพิการขาขาด 633 คน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้บริการคนพิการได้ทั่วถึง
   

          ด้าน รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม กล่าวว่า ไทยมีคนพิการเพิ่มขึ้นจากโรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้เจ็บป่วยมากขึ้น สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีผู้ป่วยที่ต้องตัดขาเป็นผู้พิการรายใหม่ปีละกว่า 3.5 พันคน เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน เส้นเลือดตีบ เนื้องอก มะเร็ง ราวๆ ร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 ขาขาดจากอุบัติเหตุ
   

 

 

ช่างเครื่องช่วยคนพิการช่วยคนจนเข้าถึง "ขาเทียม"

 

 

          อย่างไรก็ตามคาดว่ายังมีคนพิการต้องใช้ขาเทียมอีกปีละ 3-5 พันคน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พิการเดิมที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ทุกครั้งที่มูลนิธิลงพื้นที่จะมีผู้พิการขาขาดออกมาขอความช่วยเหลือ บางคนใช้กระบอกไม้ บางคนใช้เหล็กพยุงตัว 
   

          ล่าสุดมีเด็กในภาคใต้อายุ 6 ขวบ พิการตั้งแต่กำเนิด ไม่มีแขนทั้ง 2 ข้าง มีขาเพียงข้างเดียว ใช้ชีวิตยากลำบากมาก มูลนิธิได้ทำขาเทียมให้เดินได้ วันนี้ไปโรงเรียนได้แล้ว และอยู่ระหว่างหาทางช่วยในการทำแขนเทียมเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เนื่องจากเป็นเด็กผู้หญิง การช่วยเหลือให้บริการฟรีทั้งหมดตามพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงให้ความช่วยเหลือทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ขาเทียมมีหลายระดับ ทั้งต่ำกว่าเข่า เหนือเข่า ถึงสะโพก การทำขาเทียมเพื่อช่วยเหลือจึงใช้เวลาต่างกัน หากต่ำกว่าเข่าใช้เวลาทำเพียง 3-4 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว แต่หากต้องมีข้อต่อ ข้อเข้า หรือสะโพกที่มีความซับซ้อนก็ต้องใช้เวลามากขึ้นและต้องใช้ช่างที่มีความรู้ความสามารถในการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ 
   

 

ช่างเครื่องช่วยคนพิการช่วยคนจนเข้าถึง "ขาเทียม"

 

 

          “ซึ่งในอดีตมีช่างเพียง 110 คน เทียบกับจำนวนประชาชากรทั้งประเทศ 67 ล้านคน แล้วน้อยมาก ขณะนี้ผลิตได้ปีละ 3-3.5 พันขา ช่วยคนพิการไปแล้วกว่า 3 หมื่นขา ใช้งบในการทำขาละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งมาจากเงินบริจาค 100% และร่วมกับ กพร.ในการฝึกอบรมช่างเพื่อส่งไปอยู่ในโรงงานขาเทียม คลินิกขาเทียม และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศที่มี 90 แห่ง ซึ่งขณะนี้บางแห่งมีเพียง 1 คนเท่านั้น” รศ.นพ.วัชระ กล่าว
 

          อนึ่งจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2558 ประเทศไทย มีผู้พิการร้อยละ 2.52 ของประชากรทั้งหมด หรือกว่า 2 ล้านคน ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการกว่า 1.9 ล้านคน พิการขาขาดกว่า 5 หมื่นคน โดยข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีคนที่ต้องถูกตัดขาเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3.5 พันคน และมีคนพิการจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการจากข้อจำกัด เช่น ราคาอุปกรณ์ค่อนข้างสูงหรือการเดินทางลำบากรวมถึงอุปกรณ์ขาเทียมถูกผลิตแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

 

 

ช่างเครื่องช่วยคนพิการช่วยคนจนเข้าถึง "ขาเทียม"

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ