Lifestyle

ฝ่าวิกฤติอุดมศึกษาไทยต้องพัฒนา"ยกระบบ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]



 

          โลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนไป มีหลายสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประเทศชาติ ตลาดแรงงาน ความต้องการของนักศึกษาและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นโจทย์สำคัญที่อุดมศึกษาต้องหันมาคิดว่า ทำอย่างไรให้เด็กที่ก้าวเข้ามาเรียนได้ความรู้ และพัฒนาศักยภาพ มากกว่าใบปริญญาที่เขาอาจจะมองว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป


   

          วานนี้ (28 ม.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการฝ่าวิกฤติอุดมศึกษาไทยด้วยคุณภาพในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1 จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชน มีจำนวนนักศึกษาลดลงกว่า 20- 30% และในมหาวิทยาลัยทั่วไปที่ไม่ใช่แนวหน้า ลดลงถึง 50-70% มีหลายสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ กลไกพัฒนาคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ สถาบันการศึกษาต้องมาคิดว่าจะปรับตัวเองอย่างไรให้อยู่ได้แบบยั่งยืนและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
  

          หัวใจสำคัญคือ “ต้องมีคุณภาพ” คำว่าคุณภาพ มีหลายคำจำกัดความ แต่คำที่ทั่วโลกนิยมใช้ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 
          1.ทำตามมาตรฐานข้อกำหนดได้ 2.ตอบโจทย์ความพึงพอใจของลูกค้า ได้แก่ นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง และภาคอุตสาหกรรมที่เป็นคนใช้บัณฑิต 3.ต้องมีต้นทุนที่เหมาะสม ไม่ใช่มีคุณภาพแต่ใช้ต้นทุนเกินความจำเป็น ทั้งนี้คุณภาพต้องมีการประกันคุณภาพคู่กันไปเสมอ


          “อุดมศึกษาถือเป็นหัวขบวนในการพัฒนาและยกระดับของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องเป็นฝ่ายที่ทุ่มเทมากที่สุด 80% เป็นคนสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้เป็นคนไทย 4.0 ทันโลก ทันเทคโนโลยี มีความเป็นดิจิทัล ต้องเป็นคนที่ต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ การที่อุดมศึกษาจะพัฒนาได้อย่างมีคุณภาพ ต้องอาศัย 3 แกนหลัก คือ 1.ต้องมีความรู้และนำไปสร้างนวัตกรรมให้ได้ ความรู้ซึ่งเกิดจากการศึกษา และนวัตกรรมที่เกิดจากความเข้าใจ 2.จะต้องมีทักษะ ซึ่งเกิดจากการฝึกอบรม เกิดจากการทำซ้ำๆ และ 3.ต้องเป็นคนที่มีสมรรถนะ ซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะที่ทำให้มีคุณสมบัติบางอย่างนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพ" 
นพ.อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้แนวโน้มของโลกชัดเจนว่า เป้าหมายการศึกษาต้องสร้างคนแล้วให้เป็นนวัตกรรมตอบโจทย์อุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลงโลกให้ได้ การเรียนการสอน ต้องเน้นเรื่องฐานสมรรถนะ สิ่งหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษาและครูต้องเข้าใจคือธรรมชาติของเด็กใน GEN Z สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา


          ครูต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ ต้องเป็นโค้ชชิ่ง ต้องตั้งคำถาม กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ คิดวิเคราะห์ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่เพื่อไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ครูจะทำหน้าที่กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ว่าเขาชอบอะไร เขาอยากจะเป็นอะไร และช่วยเขาพัฒนาด้านนั้นให้สุดในสิ่งที่เขารักเขาชอบ ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และสุดท้ายครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง มีความเข้าใจ ใกล้ชิดเด็ก เด็กเข้าถึงได้ และเด็กแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ และจะต้องช่วยเด็กในการช่วยเด็กพัฒนาศักยภาพให้ได้อย่างที่เขาต้องการ


          “สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนมายเซตทั้งผู้บริหารและครูทั้งประเทศ และทุกระดับ ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะอุดมศึกษา แต่รวมไปถึงประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต้องเปลี่ยนมายเซตของครูทั้งประเทศเพื่อให้สอดรับกันเป็นช่วงๆ ไป เพราะถ้าเขาไม่มองถึงการเปลี่ยนแปลงข้างหน้าและไม่ยอมปรับตัวเอง แต่ยังใช้การสอนแบบเดิมมันไม่มีทางที่คุณจะสร้างคนรุ่นใหม่และตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือปัจจัยที่สำคัญที่สุด” นพ.อุดม กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ