Lifestyle

ชี้ปี62เผาจริงมหาวิทยาลัยไทยเด็กน้อยเรียนรู้เองเมินปริญญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...  โดย... หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ - [email protected] 

 


          เมื่อมีระบบทีแคส 2561 ขึ้นมาทำให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทราบว่ามีนักเรียนลงทะเบียนทีแคส 2562 ในระบบไม่ถึง 300,000 คน เพราะเด็กมีจำนวนน้อยลง เด็กไม่สนใจที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะเทคโนโลยีกว้างไกล เด็กมีความรักอิสระมากขึ้นและในปีหน้าจะน้อยลงไปอีก ดังนั้นถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวรองรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต 

 

 


     

          สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ตามที่ประชุม ทปอ. ได้หารือถึงประเด็นสถานการณ์ของอุดมศึกษาไทยในปี 2562 ซึ่งสรุปว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งควรจะมีการปรับตัว  โดยดูจากผลการเปิดรับสมัครลงทะเบียนของทีแคส 2562 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนในระบบไม่ถึง 300,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นจำนวนที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก และทปอ.ได้รวบรวมข้อมูลมหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา องค์ประกอบ เกณฑ์ และจำนวนรับนิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั้ง 92 แห่ง พบว่าปีการศึกษา 2562 มีจำนวนรับรวมกัน 390,120 คน ดังนั้น ทปอ.การันตรีได้เลยว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยเปิดรับมีมากกว่าจำนวนนักเรียน 2 เท่าแน่นอน


          “ปี 2562 จะเป็นปีที่น่ากลัวมากสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเมื่อมีระบบทีแคส 2561 ขึ้นมา ทำให้ ทปอ.ทราบปัญหานี้ทันที และในปีหน้าคิดว่ามหาวิทยาลัยมาถึงจุดเผาแล้ว คือเด็กมีจำนวนน้อยลง เด็กไม่สนใจที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะเทคโนโลยีกว้างไกล เด็กมีความรักอิสระมากขึ้น ดังนั้น ทปอ.จึงมีมติตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา (University Learning Reform Committee) โดยมีนายศักรินทร์ ภูมิรัตน รองประธาน ทปอ. เป็นประธาน ซึ่งทปอ. จะเข้าไปลงทุนทั้งกำลังคน กำลังเงินในการปฏิรูปเรื่องการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพราะการปฏิรูปครั้งนี้หากมหาวิทยาลัยไปทำกันเองจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมาก ทปอ.จึงเข้ามาช่วยเป็นศูนย์กลางในการปฏิรูปให้" สุชัชวีร์ กล่าว

 


          อย่างไรก็ตามตอนนี้ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เช่น วิชาเลือกต้องมีมากขึ้นและมีวิชาบังคับน้อยลง หรือการปรับหลักสูตรบางหลักสูตรที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่มีความยืดหยุ่น หรืออาจจะเปิดให้นักศึกษาที่เรียนจบมาแล้วมีความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ จบมามีปริญญา 2-3 ใบ อาจจะจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียนได้มากขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการสอนแม้จะมีนักศึกษาเข้ามาเรียนน้อยแต่สามารถนำนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว หรือคนอายุ 60-70 ปี ที่ยังมีกำลังและสติปัญญากลับเข้ามาเรียนใหม่ได้หรือไม่


          ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนรู้ในยุค 4.0 คือการเรียนข้ามศาสตร์ เพราะศาสตร์เดียวมันไปไม่ได้เพราะในอนาคตจะเกิดการแข่งขันอย่างสูง ส่งผลให้เกิดการ disruption กันอย่างรวดเร็ว โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่เด็กจะลดลงอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเมื่อ 20 ปีก่อนอัตราการเกิดของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี


          แต่ล่าสุดลดลงเหลือ 6.7 แสนคนต่อปี เข้ามหาวิทยาลัยแค่ 3 แสนคน ฉะนั้นลูกค้าหลักของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่เด็กมัธยมอีกแล้ว ขณะที่ความต้องการตลาดแรงงานเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากแรงงานคนกลายเป็นเทคโนโลยีสถาบันการศึกษากลับไปทบทวนและเตรียมการ เพราะผมเชื่อว่าอีก 4-5 ปีมันจะ disrupt มากกว่านี้ มหาวิทยาลัยอาจจะปิดจำนวนหนึ่ง เพราะไม่มีเด็กเข้าเรียน
     

          มหาวิทยาลัยยังต้องปรับตัวเป็นเน้นการพัฒนาอาชีพ ยึดตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ เติมเต็มความรู้และทักษะที่จำเป็นหรือสิ่งที่ขาด สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากนอกโรงเรียน กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ได้ต้องเน้นให้เรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุรวมถึงเน้นหลักสูตรที่ไม่มีประกาศนียบัตรหรือปริญญา เป็นการสอนที่ทำให้บัณฑิตประสบความสำเร็จในการทำงาน และการเป็นพลเมืองของโลกในศตวรรษที่ 21 และทั้งหมดเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวจะไปไม่รอดและจะต้องล้มหายตายจากไป

   
          ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) กล่าวว่า โลกอนาคตตัวป้อนสถาบันการศึกษาไม่ใช่วัย 18-24 ปีแล้วหลักสูตรต่างๆ จึงต้องปรับตามเน้นระยะสั้นตอบสนองความต้องการคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ เพราะว่าผู้เรียนต้องการเรียนเพิ่มเติมในองค์ความรู้ที่ขาดอยู่และนำไปใช้วิชาชีพได้ในระยะเวลาสั้น ไม่ต้องการเรียนตามหลักสูตร สถาบันการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่ต้องปิดหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเปิดหลักสูตรระยะรองรับผู้ที่ทำงานและผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น


          สถาบันการศึกษาจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของนักศึกษารวมถึงการพัฒนา Co-learning space และ Co-working space สำหรับการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันของนักศึกษา การจัด Maker space ให้นักศึกษาได้ทดลองสร้างผลงานตามแนวคิดของตัวเองผ่านอุปกรณ์ทันสมัย
   

          ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ภาพรวมของอุดมศึกษาในปี 2562 นี้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงผลิตบัณฑิตเท่านั้น แต่ต้องทำวิจัย บริการวิชาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต้องนำโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมมาใช้ในด้านการวิจัย สร้างนวัตกรรมเพราะขณะที่กระบวนการเรียนการสอนต้องรู้จักการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในการเรียนการสอนให้มากที่สุด


          เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่สามารถค้นหาความรู้ได้เร็วกว่าที่อาจารย์ยืนสอนอยู่หน้าชั้นเรียน ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับรายวิชาที่เหมาะกับเด็ก นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ของประเทศ และคุณภาพชีวิตของคนไทย


          “ครูอาจารย์ไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ตามตำราหรือข้อมูลต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ช่วยกลั่นกรองต้องเป็นโค้ช ทำอย่างไรให้ความรู้ที่มีอยู่เกิดประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด ครูต้องรู้ให้รอบ และรู้มากกว่านักศึกษาซึ่งอาจารย์และมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เป็นโค้ชให้นิสิตนักศึกษาแล้วต้องเป็นนักสร้างนวัตกรรม นักวิจัยและทำให้บัณฑิตรุ่นใหม่สร้างสิ่งใหม่ๆ แก่ประเทศไทย"


          จากนี้ไปในอนาคตของมหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่รั้วที่ปิดกั้น ต้องเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดตัวเองเปิดความรู้ ขยายรั้วคุณภาพ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของทุกคน เพราะองค์ความรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะเด็ก ม.6 มาเรียน แต่องค์ความรู้ได้จากโจทย์ชีวิตจริง ต้องผลิตบัณฑิตที่ปรับตัว มีทักษะยืดหยุ่น มีทัศนคติที่ดี เท่าทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สร้างคนรุ่นใหม่ที่ทำงานได้หลากหลาย เป็นนักนวัตกรรม นักออกแบบสร้างสรรค์


          7 ทักษะสร้างคนแห่งอนาคต
          “ศ.ดร.อันเนเล นีเอมี” ผู้อำนวยการวิจัย คณะวิทยาการทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ บอกเล่าถึงหลักสูตรใหม่จะปลูกฝังให้นักเรียนมีความสามารถใน 7 ด้าน 


          ได้แก่ 1.Thinking and learningto learn มีทักษะในการคิดและการเรียนรู้ สร้างให้เด็กรู้จักการตั้งคำถาม ใช้วิธีการทดลองมากขึ้น และเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งทักษะนี้จะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมกับครู


          2.Cultural competence, Interaction, and self-expression ครูต้องคำนึงว่าเด็กจะเรียนร่วมกันอย่างไรในความหลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ และอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มได้


          3.Taking care of oneself and others ; managing daily life ความต้องการรู้ของเด็กในเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หากพวกเขามีข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถดูแลตัวเองและคนอื่นได้ สอดแทรกวิชาต่างๆ ที่เป็นทักษะเข้าไปในการเรียน อย่างศิลปะ กีฬา หัตถกรรม เทคโนโลยี และคหกรรม”


          4.Multiliteracy เน้นความสามารถในการอ่านและเขียนได้หลายภาษา ซึ่งทักษะนี้จะทำให้เด็กเข้าใจแหล่งข้อมูล และตีความข้อมูลเหล่านั้นได้ โดยครูจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขามีข้อมูลสารสนเทศหลากหลายอยู่รอบตัว ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจต่อข้อมูลต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร แล้วอะไรเป็นเรื่องสำคัญ


          5.Competence in Information and Communication Technology (ICT) โรงเรียนจะบูรณาการไอซีทีเข้าไปในสาขาวิชาต่างๆ ยกตัวอย่างเรื่องจริยธรรมในการใช้ไอซีที การโต้ตอบ และการสร้างปฏิสัมพันธ์ โดยไอซีทียังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กทั้งการเรียนเดี่ยวและการเรียนเป็นกลุ่ม


          6.Working life competence and entrepreneurship นักเรียนได้เรียนรู้ว่าวิชาต่างๆ มีบทบาทอย่างไรในการทำงาน ทั้งยังมีการกำหนดให้นักเรียนบางระดับชั้นไปร่วมทำงานกับผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งการให้ข้อมูลและการเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสประสบการณ์จริงจะทำให้เขารู้ว่าเส้นทางการทำงาน และทางเลือกของชีวิตจะเป็นอย่างไร


          7.Participation, Involvement and building a sustainable future ครูจะส่งเสริมให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองและผู้อื่น รวมถึงการให้ความสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม


          โดยทักษะและความสามารถทั้งหมดนี้จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กประเทศฟินแลนด์เติบโตเป็นผู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ