เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือเพื่อเด็กไทยคุณภาพดี 4.0 อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก ว่า ผลกระทบจากการใช้สื่อต่อพัฒนาการเด็กพบว่า การใช้จอไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ แท็บเล็ต สมานโฟน ในการเลี้ยงลูกจะส่งผลกระทบต่อเด็กใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญาจะล่าช้า โดยพบว่าเด็กที่ได้ใช้สื่อผ่านจอจำนวนมากตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงที่จะมีปัญหาในเรื่องนี้แม้จะเปิดไว้เฉยๆแล้วคิดว่าลูกไม่ได้ดู แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ แนวโน้มพัฒนาการในเรื่องนี้จะลดลง จากการศึกษามีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเด็กที่ใช้สื่อผ่านจอจะมีคะแนนพัฒนาการลดลงถึง 15 คะแนน
รศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า 2.ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมออทิติก คือดื้อ ต่อด้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย แม้ดูเหมือนขณะใช้สื่อ เด็กจะนิ่ง แต่เมื่อขออุปกรณ์คืน เด็กจะไม่ยอม เกิดการดื้อร้น ทั้งนี้พบว่าถ้าลดการใช้สื่อผ่านหน้าจอของเด็กลง พฤติกรรมเด็กก็จะกลับมาปกติได้ 3. ทักษะการทำงานของสมองระดับสูงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การรู้คิด การควบคุมตนเองจะแย่ลง การแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ดี โดยหากใช้สื่อที่เปลี่ยนภาพหน้าจอเร็วๆ และขาดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูก็จะมีปัญหาส่วนนี้มาก และ4.การนอนหลับยากขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับลดลง ส่งผลต่อการจำและอารมณ์
"การใช้สื่อผ่านจอในการเลี้ยงเด็กเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเลย ในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่มีข้อมูลเชิงบวกว่าจะช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้แย่ลง "รศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำในการใช้สื่อกับเด็กเล็กอย่างเหมาะสมคือ เด็กอายุแรกเกิด - 2 ปี ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิด เด็กอายุ 2-5 ปี ใช้หน้าจอกับพ่อแม่ ด้วยสื่อคุณภาพไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้จะต้องปิดหน้าจอ และให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกัน
ด้าน รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิผลการพิมพ์ กุมารแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สัญลักษณ์แสดงความเหมาะสมของเนื้อหาที่ปรากฎบนจอโทรทัศน์หรือสื่ออื่นๆ ที่แสดงเป็น " ท " ที่หมายถึงทุกช่วงวัยสามารถดูได้ แต่ข้อมูลของกุมารแพทย์พบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูสื่อทุกประเภท เพราะฉะนั้นจะไม่มีสื่อหรือเนื้อหาใดที่เป็น "ท" ที่ระบุว่าดผุได้ทุกวัน จึงควรแก้ไขสัญลักษณ์ดังกล่าวใหม่ให้ดีขึ้นเป็นบรรทัดฐานต่อสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง