Lifestyle

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 “ดนตรี” ไม่ได้เพียงแค่ช่วยสร้างบรรยากาศ ทำให้ผู้ฟังได้ผ่อนคลาย แต่ยังมีประโยชน์สามารถสร้างสรรค์ และช่วยในการดึงศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษสู่สภาวะปกติ

    กว่า 15 ปีในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการบูรณาการดนตรีเพื่อเสริมสร้างพัฒนาเด็กผู้มีความต้องการพิเศษ ฐานันดร ชูประกาย หรือ “ครูสอ พาเพลิน” อธิบายถึงการใช้ดนตรีพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หัวใจสำคัญในการใช้ดนตรีพัฒนาเด็ก คือ เริ่มตั้งแต่ครูต้องใช้ “ใจ” ต้องยอมรับว่าการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ นั้นเหนื่อย เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน หลายคนมีภาวะบกพร่องทางการพูด,ด้านสมาธิ,กล้ามเนื้อ หรือบางคนอาจจะมีภาวะบกพร่องหลายอย่าง จึงต้องทุ่มเทและเข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้มาก

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ  ฐานันดร ชูประกาย หรือ “ครูสอ พาเพลิน”

       ขณะเดียวกัน ครูต้องคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ใจของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ครูจะต้องเปิดประตูใจของเด็กให้ได้และดึงเด็กออกมาสู่โลกของครู จากนั้นก็อาศัยความสามารถทางดนตรีที่มี ดูว่าดนตรีชนิด แบบใดที่เหมาะกับเด็ก เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่ละคนก็ใช้เครื่องดนตรีต่างกัน เช่น บางคนสามารถใช้มือได้ถนัดข้างเดียว ก็ต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับศักยภาพของเขา จากนั้นและค่อยปรับๆไปให้สอดคล้องกับเด็ก

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ

      “ถ้าจะนำดนตรีมาใช้ในการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ว่า การเรียนดนตรี คือเครื่องดนตรี แบบนี้ไม่ได้ ต้องหาทางอื่นเพื่อเชื่อมโยงไปถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เหล่านี้ ต้องเปิดประตูใจของเด็ก โดยอาศัยวิธีการอื่นๆ มาช่วย ซึ่งรูปแบบและสไตล์ที่ใช้ คือ จะการนำนิทาน, เพลง,เกม และสื่อ เข้ามาสร้างกิจกรรมให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย สร้างความเชื่อมโยงให้กำกับร่างกายให้สัมพันธ์กับความคิด ,ดนตรี ,สิ่งแวดล้อมและเพื่อน ตรงนี้เป็นการสร้างทักษะการสื่อสารและทักษะทางสังคมให้เด็กได้ โดยแต่ละกิจกรรมจะใช้เพลงมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างจังหวะให้เกิดความสนุกสนาน ตรงนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ผ่อนคลาย เพลงที่นำมาใช้ไม่ได้จำกัดว่าต้องเฉพาะสำหรับเด็ก เป็นเพลงอะไรก็ได้ที่มีจังหวะ ทำนองที่สอดคล้องกับ     กิจกรรม”ครูสอ ระบุ

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ

       ครูสอ บอกอีกว่า กิจกรรมที่นำมาใช้ต่างๆ นี้เหล่านี้ ไม่ได้จำกัดแค่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็กทุกคน แต่เป้าหมายต้องการจะฝึกและพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป เพียงแต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ นั้นอาจต้องใช้เวลาในการทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำๆ ขณะที่เด็กปกติก็จะก้าวไปตามเสต็บของเขา

        จากประสบการณ์ที่ทำงานดนตรีมานั้น พบว่าปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครองส่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มาเรียนดนตรีเพิ่มมากขึ้น เฉพาะที่สอนในปัจจุบันประมาณ 30 คน คาดว่ามาจากการที่มีทุกคนเปิดใจยอมรับมากขึ้น และจากที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก็พบว่า รูปแบบและวิธีการนี้เห็นผลและเข้าถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้จริง พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ทั้งนี้ การใช้ดนตรีพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ นั้น เป็นหนทางหนึ่งเท่านั้น ส่วนด้านอื่นๆ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาไปตามกระบวนการ

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ

     ล่าสุด ครูสอ ได้อบรม “แนวทางการใช้ดนตรี สำหรับเด็กผู้มีความต้องการพิเศษ” ให้แก่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ นักกิจกรรมบำบัด ครูสอนดนตรี 30 คนฟรี ณ บ้านไม้หอม ปภิญญา ชูธรรมาวงศ์ จากจังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่าจะนำเอาความรู้ที่ได้ไปดูแลลูกที่เป็นออทิสติก โดยเฉพาะที่ ครูสอ แนะนำว่าต้องเปิดประตูใจ ของเด็กและดึงให้เขาออกมาจากโลกของเขา มาอยู่ในโลกของเรา และหากิจกรรมอื่นๆ มาช่วยเสริมและพัฒนาศักยภาพเชื่อว่าลูกทั้ง 2 คนมีความสนใจในเรื่องของดนตรี โดยเฉพาะลูกสาวที่ป่วยเป็นออทิสติก ชอบการร้องเพลงอย่างมาก จะเอาวิธีการนี้ไปจูงใจและชวนให้ลูกสาวเข้ามาร่วมกิจกรรมกับครอบครัวมากขึ้น ไม่จมอยู่แต่กับโลกของตัวเอง

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ

        เธอบอกว่าที่ผ่านมาเมื่อรู้ว่าลูกสาวเป็นออทิสติก ครอบครัวหรือแม้แต่ญาติพี่น้องก็ไม่มีใครยอมรับได้ แต่มานั่งคิดว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้ลูกจะยืนในสังคมได้ลำบาก เพราะช่วงเด็กๆ ลูกสาวมีภาวะอารมณ์รุนแรง เก็บตัวไม่ยุ่งกับใคร

     ตั้งแต่นั้นจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการออทิสติกและสมัครเข้าร่วมอบรมต่างๆ เพื่อหาเทคนิควิธีการไปใช้ดูแลลูก ถึงขั้นตัดสินใจย้ายไปต่างจังหวัดหาที่เรียนที่เหมาะสมกับลูก มีสภาพแวดล้อมที่ดีให้ลูกเข้าเรียน และดูแลใกล้ชิด ปัจจุบันลูกสาวอายุ 11 ปีก็ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ แต่เรียนแบบบ้านเรียน ซึ่งลูกสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ เข้ากับคนอื่นๆได้ดี

“ดนตรี”บำบัดเด็กพิเศษ

     “การดูแลเด็กออทิสติก ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งครอบครัวคือหลักสำคัญที่สุดในการดูเด็ก เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องยอมรับให้ได้ ต้องเปิดเผย ไม่ปิดบัง อย่าอาย นอกจากนี้ คนในสังคมก็ต้องยอมรับและเข้าใจเด็กที่เป็นออทิสติกด้วย”นางปภิญญา กล่าว

    ขณะที่ สริญญา เสาร์บุปผา ที่เดินทางมาจากจ.พิษณุโลก เพื่อมาเรียนรู้กับเทคนิค และแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาเด็ก บอกว่าอยากจะเอาไปจัดกิจกรรมให้กับลูกสาวและเพื่อนๆของลูกในช่วงปิดเทอม ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมที่เน้นเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่โดยพื้นฐานเป็นกิจกรรมที่จะพัฒนาศักยภาพของเด็กเช่นกัน เชื่อในการพัฒนาเด็กด้วยแนวทางธรรมชาติ ให้ลูกได้เติบโตตามวัยอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะแนวทางวอล์ดอร์ฟ และได้เริ่มนำมาใช้จัดกิจกรรมสอนให้กับลูกแล้วในช่วงเวลากว่า 1ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าเดินทางมาถูกทางแล้ว..

0 เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ 0 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ