ไลฟ์สไตล์

สปส.วาง 5 แนวทางปฏิรูปบำนาญชราภาพ ขยายอายุเกษียณเป็น 60 ปี

14 ก.ย. 2559

สปส.วาง 5 แนวทางปฏิรูปบำนาญชราภาพ ขยายอายุเกษียณเป็น 60 ปี เพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนชราภาพเป็นร้อยละ 5 ช่วยยืดอายุกองทุนประกันสังคมไปอีก 30 ปี


    
     นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวถึงแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพ กองทุนประกันสังคม เพื่อความเพียงพอและยั่งยืน ว่า จากการวิเคราะห์ของ สปส. พบว่า การจ่ายเงินบำนาญชราภาพก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกันตน โดยมีเงินไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพและทำให้กองทุนเกิดความไม่มั่นคงทางด้านการเงินในอนาคต หากไม่ดำเนินการอะไรหลังจากปี 2559 เงินกองทุนของ สปส.จะอยู่ได้เพียง 38 ปี
     ทั้งนี้ จากข้อมูล สปส. ในปี 2557 มีผู้ประกันตนรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จและบำนาญชราภาพ 20,000 คนรวมเป็นเงิน 370ล้านบาท ส่วนปี2559 จนถึงเดือนสิงหาคม จำนวน 67,000 คน เป็นเงิน 980ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้(2559) จะมีผู้ประกันตนมายื่นรับเงินชราภาพถึง 1 แสนคน ส่วนปี 2560 จะเพิ่มเป็น 2 แสนคน และในอีกไม่ถึงๆ10ปีข้างหน้าจะมีผู้ประกันยื่นรับเงินชราภาพเพิ่มขึ้นถึง1ล้านคน คิดเป็นเงิน246,524ล้านบาท
    นายโกวิท กล่าวอีกว่า สปส.จึงได้เตรียมแนวทางปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ 5 แนวทาง ได้แก่ 1.การขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยจะขยายหลังปี 2565 และผู้ที่เกษียณจะได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานด้วย 2.ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพ จากที่ปัจจุบันขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาทและสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ปรับเป็นขั้นต่ำอยู่ที่ 3,600 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 20,000 บาท     3.ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ โดยจากเดิมใช้คำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ มาเป็นคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ส่งในช่วง 15 ปี หรือ 20 ปี 4.เพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 ของเงินเดือน เพิ่มเป็นร้อยละ 5 และ5.สปส.ยังจะเร่งพัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้นด้วย
   เลขาธิการ สปส. กล่าวด้วยว่า หากใช้ 5 แนวทางข้างต้นพร้อมกันจะช่วยยืดอายุกองทุนไปได้อีก 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2597 เป็นต้นไป ซึ่ง สปส. จะแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ปี 2558 เพื่อให้สอดรับกับ 5แนวทางข้างต้นทั้งเรื่องการขยายอายุเกษียณ เพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ ซึ่งจะกำหนดไว้ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขให้อยู่ในกฎกระทรวง และกำหนดให้หน่วยลงทุนเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้กำกับของ สปส. สามารถจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารการลงทุน เพื่อความคล่องตัวในการลงทุน

    นอกจากนี้ จะแก้ไขในเรื่องที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) จากที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการสรรหาแทน เพราะหากใช้วิธีเลือกตั้งจะต้องงบถึง 1 พันล้านบาท และไม่รู้ว่าจะได้ตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริงหรือไม่ และเชื่อว่าหากใช้วิธีการสรรหาโดยดำเนินการอย่างยุติธรรม และให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้งนี้ จะเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ต่อคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงแรงงาน ในเดือน กันยายน 2559 นี้