Lifestyle

ทางเลือกใหม่ของการกายภาพบำบัดในน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูแลสุขภาพ : ทางเลือกใหม่ของการกายภาพบำบัดในน้ำ

               การรักษาฟื้นฟูร่างกายของบางโรคนั้น จำเป็นต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด และการออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเจ็บปวดหรือขยับร่างกายลำบาก ไม่สามารถรองรับน้ำหนักของตนเองได้ มีข้อจำกัดไม่สามารถเดินบนลู่วิ่งแบบธรรมดาเป็นเวลานาน หรือทำกายภาพบำบัดแบบปกติได้ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาเหล่านี้ด้วย เทคโนโลยีเครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ หรือ “Aquatic Treadmill” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการทำกายภาพและออกกำลังกายที่จะช่วยให้ลดอาการเจ็บปวด และผู้ป่วยสามารถทรงตัวได้ดีมากขึ้น
               การกายภาพบำบัด คือ การกระทำในการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อบำบัด ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูการเสื่อมสมรรถภาพ หรือความพิการของร่างกาย หรือจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่ การดัด การดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกาย หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระทำด้วยวิธีการต่างๆ หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ในปัจจุบันการทำกายภาพบำบัดมีหลากหลายวิธี อาทิ การประคบร้อน กระตุ้นไฟฟ้า ฝังเข็ม ธาราบำบัด การเดินบนลู่แบบธรรมดา และเดินบนลู่วิ่งแบบสุญญากาศ เป็นต้น 


                ทางเลือกใหม่ของการกายภาพบำบัดในน้ำ

               ซึ่งทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ป่วย โดยนำเทคโนโลยีเครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ หรือ Aquatic Treadmill (อควาติค เทรดทิว) เข้ามาใช้ ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นสายพานวิ่งในน้ำ เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติที่จะสามารถฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ความหนาแน่นของน้ำทำให้เกิดการลอยตัวทำให้ผู้ป่วยสามารถทรงตัวและเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีกว่าอยู่บนบก เพราะไม่ได้รองรับน้ำหนักตนเองทั้งหมด ลดแรงกระแทกตามข้อต่อต่างๆ ในร่างกายจากการเดินหรือวิ่งได้ดีกว่าบนบก และช่วยลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย แรงดันของน้ำลดอาการบวมตามร่างกายของผู้ป่วยได้ ใช้น้ำอุ่นในการรักษา เนื่องจากน้ำอุ่นจะช่วยในเรื่องการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการเกร็งและอาการปวดต่างๆ ได้
               นอกจากนี้แรงต้านของน้ำยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพิ่มความทนทานให้แก่ร่างกายได้ ซึ่งตัวเครื่องสามารถปรับระดับน้ำ ความเร็ว ความชันของสายพาน ให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ใช้งาน มีจอแสดงภาพให้เห็นการเคลื่อนไหวของขาขณะกำลังใช้งาน โดยเป็นการแสดงผลของการฝึกฝนและสามารถปรับเปลี่ยนท่าเดินหรือวิ่งให้ถูกต้องได้ในทันที นอกจากจะช่วยในการฟื้นฟูร่างกายสำหรับผู้ป่วยแล้วบุคคลทั่วไปยังสามารถใช้บริการเครื่องนี้ เพื่อช่วยในการออกกำลังกายและลดน้ำหนักได้อีกด้วย
               การทำกายภาพบำบัดในน้ำด้วยเครื่องอควาติค เทรดมิว นั้น เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางโครงร่างกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal system) เช่น ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยกระดูกหัก ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบหัวใจและทรวงอก (Cardiopulmonary system) เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดตีบ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาท (Neurological system) เช่น ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยพาร์กินสัน ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องทรงตัวและผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ ผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นนี้มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายบนบก ดังนั้นการกายภาพบำบัดในน้ำจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย นอกจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้วนักกีฬาก็สามารถเข้ารับบริการเครื่องนี้ได้เช่นกันเพราะจะช่วยเพิ่มสมรรถนะทางด้านร่างกายของนักกีฬาได้เป็นอย่างดี
               การทำกายภาพในน้ำนั้น ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด วิธีนี้จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีสภาวะระบบหัวใจเต้นไม่คงที่ ความดันโลหิตสูง การมองเห็นและได้ยินบกพร่อง สภาวะบกพร่องทางปัญญา เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้ ข้อห้ามสำหรับการทำกายภาพบำบัดในน้ำโดยเครื่องอควาติค เทรดมิว ผู้ที่รับการรักษาจะต้องไม่มีอาการเหล่านี้คือ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ ท้องเสีย มีอาการติดเชื้อทางกระเพาะปัสสาวะ มีแผลเปิดหรือแผลสด โรคผิวหนัง และผู้ที่กำลังมีประจำเดือน เพราะความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ
               ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการวัดสัญญาณชีพ ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้า ในส่วนของเสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเป็นผ้าที่ไม่มีใยผ้าหลุดลุ่ยได้ ไม่ซับน้ำ สะดวกต่อการเคลื่อนไหวในน้ำ เช่น ชุดว่ายน้ำ เสื้อกีฬา กางเกงกีฬา เป็นต้น ไม่ควรนำสิ่งของมีค่าติดตัวในขณะเข้ารับการรักษา ในการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที โดยจะมีนักกายภาพบำบัดดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการรักษาและในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย เพื่อความปลอดภัยทางโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องให้ญาติหรือผู้ติดตามมาช่วยดูแลทุกครั้ง ในส่วนของผู้ที่อายุน้อยกว่า 12 ปี นักกายภาพบำบัดจะเข้าไปดูแลในเครื่องด้วย ในขณะรับการรักษาหากมีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อยมากหรือปวดท้องถ่าย ควรแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที
พญ.ธันยาภรณ์ ตันสกุล
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
รพ.กรุงเทพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ