Lifestyle

'บังดี้'นายกสมาคมนักศึกษาไทยไคโรคนที่53

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน : 'บังดี้'นายกสมาคมนักศึกษาไทยไคโรคนที่53

             “ทุกครั้งที่มีปัญหา ทุกครั้งที่ไม่เป็นที่พอใจกับการทำงาน ได้แต่บอกตัวเองเสมอว่า เราต้องอดทนและยิ้มกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับพูดให้เบาๆ แต่ชัดเจน โกรธได้แต่อย่าเกลียด เพราะเชื่อว่าคนอียิปต์เขาชอบคนอ่อนน้อมถ่อมตน และจะเป็นที่มาของชัยชนะทั้งตัวเองและคนรอบข้าง”
 
             นักศึกษาไทยในประเทศอียิปต์ได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมเมื่อปี 2498 พร้อมๆ กับการสืบทอด ต่อยอดกันเรื่อยมาจนมาถึงนายกสมาคมคนที่ 53 ในปัจจุบัน 2559 อียิปต์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้นักเรียนไทย 2,000 คน โดยประมาณที่ได้มาพำนักและศึกษาด้านศาสนาอยู่ในประเทศอียิปต์แห่งนี้ ต้องเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมอียิปต์
 
             ดังนั้นวันนี้ผู้นำนักศึกษาคนใหม่ คือ กุญแจสำคัญที่จะเข้าไปดูแลและคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่นักศึกษาและประเทศไทยของเราในหลายองค์กรทั้งในส่วนของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักศึกษา
 
             “บังดี้” ชื่อที่พี่ๆ น้องๆ ในอียิปต์ ต่างเรียกกัน หรือ “เอกรัฐ พิทักษ์เมธานนท์” เป็นบุตรของอาหมัด พิทักษ์เมธานนท์ กับ ฉลวย หมัดละ มีอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว บังดี้ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน กรุงเทพมหานคร และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ (นราธิวาส) หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อด้านศาสนาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิศบาฮุ้ลอุลูม และก่อนจะบินมาศึกษายังประเทศอียิปต์ ได้ศึกษาจนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (ฉะเชิงเทรา) ชีวิตนี้ตั้งความฝันว่าอยากมีโรงเรียนสอนหนังสือเป็นของตัวเองและอยากเป็นครูผู้ให้ความรู้แก่ผู้คน สังคมมากที่สุด
 
             บังดี้ เดินทางสู่อียิปต์ปี ศ.ศ.2007 และเข้าศึกษามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร คณะคุรุศาสตร์ (ตัรบียะห์) เอกอิสลามศึกษา ปัจจุบันศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 4 เป็นคณะที่นักศึกษาสนใจน้อย อาจจะเนื่องด้วยศัพท์และภาษาหนังสือส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยได้พบในตอนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา “ซานาวี” ที่เมืองไทย
 
             และที่สำคัญที่สุด เมื่อศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 3-4 จะต้องทำการฝึกสอนในโรงเรียนอาหรับ ซึ่งต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูง เพราะเด็กอาหรับส่วนใหญ่จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่นิ่งและเรียบร้อยเหมือนเด็กไทย ดังนั้นการสอนนอกจากต้องใช้ความสามารถในด้านภาษาแล้วยังต้องใช้จิตวิทยาในการควบคุมเด็กๆ ให้อยู่
 
             “ไม่มีอะไรที่ง่ายเลยสักอย่าง การใช้ชีวิตในอียิปต์ก็เช่นกันซึ่งต่างจากคนไทยเราโดยสิ้นเชิงที่รับไม่ได้อันดับแรกเลยคือเสียงแตรรถยนต์ การพูดเสียงดังและความไม่เป็นระเบียบ แต่ด้วยการตักเตือนของรุ่นพี่ทำให้ความรู้สึกเหล่านี้ลดลงและค่อยๆ ศึกษาคนอาหรับไปด้วย เพราะเมื่อถึงจุดนี้เราจะรู้ว่าอียิปต์สอนให้เราอดทน เข้มแข็งและกล้าสู้กับปัญหา คือสิ่งที่จำเป็นที่เราทุกคนต้องมี” บังดี้ กล่าว
 
             ก่อนเป็นผู้นำนักศึกษา “บังดี้” เคยดำรงตำแหน่ง ปฏิคมชมรม ทัศนศึกษา ตัวแทนประธานชมรมในงานสมาคม ตัวแทนฝ่ายทะเบียนสมาคม เลขาฯ ฝ่ายประสานงานภาคกลาง 3 ปี ซึ่งการทำงานในปีนี้ เน้นเรื่องการศึกษา ต่อยอดจากปีที่แล้ว เช่น การจัดติวหนังสือให้รุ่นน้องเพิ่มมากขึ้น จัดชุมนุมเชิงวิชาการขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการพูด ทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทักษะการร้องอนาชีต กฎ และระเบียบของมหาวิทยาลัยปีนี้ มหาวิทยาลัยจะมีการบังคับให้นักศึกษาทุกคนเข้าเรียนทุกวิชา ส่วนทางสถาบันภาษา (ตัมฮีด) มีการเปลี่ยนแปลงกฎเล็กน้อย คือให้สมาคมเป็นตัวกลางในการยื่นสมัครเข้าเรียนให้แก่นักศึกษาใหม่
 
             สิ่งที่อยากฝากนักศึกษาที่ต้องการมาเรียนที่นี่ ให้มาในช่วงที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรเปิดรับสมัคร ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมโดยประมาณ เนื่องจากว่าหากนักศึกษามาก่อนการเปิดรับสมัครเป็นเวลานานจนวีซ่าหมดอายุ จะมีปัญหากับการสมัครเรียน สำหรับนักศึกษาที่ต้องการมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ต้องผ่านการเรียนจากสถาบันภาษา (ตัมฮีด) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคอร์ส 540 ปอนด์อียิปต์ (ยกเว้นนักศึกษาทุนมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ