Lifestyle

ถอดรหัสเลี้ยงลูกยุคเจนอัลฟ่า(Gen Alpha)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถอดรหัสเลี้ยงลูกยุคเจนอัลฟ่า(Gen Alpha)

             เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารโมเดิร์นมัม ในกลุ่มบริษัท อาร์แอลจี หรือรักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป จัดงานเสวนา “7 Codes ถอดรหัสความสำเร็จ Generation Alpha” เจาะลึกพฤติกรรมเด็กเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือและรู้เท่าทันการเลี้ยงลูกยุคใหม่ ด้วยทักษะ “Be 5” ที่พ่อแม่ควรเป็น และทักษะ “7 Essential Skills” ที่ลูกควรมี พร้อมเทคนิคการเลี้ยงลูก น.ส.ชนิดา อินทรวิสูตร รองประธานปฏิบัติการสายธุรกิจคอมมูนิเคชั่นส์ กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (RLG-Rakluke Learning Group) กล่าวว่า เด็กยุคเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า คือเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง สังคมมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยปัญหามากมาย สภาพแวดล้อมเหล่านี้จึงส่งผลต่อการคิดและการใช้ชีวิตของเด็กยุคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้คนเป็นพ่อแม่รวมทั้งลูกจำเป็นต้องมีทักษะเพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสังคมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้
 
             “ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีประชากรซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า เพิ่มขึ้นราว 1,590 ล้านคน ดังนั้น ยุคนี้จึงถือเป็นยุคที่เจนเนอเรชั่น อัลฟ่า ขับเคลื่อนโลกก็ว่าได้ เจนเนอเรชั่น อัลฟ่า เป็นเด็กยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เรียนรู้เร็ว ปรับตัวเก่ง แต่มีแนวโน้มที่จะมีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น และเป็นตัวของตัวเองสูง ในสภาวะที่สังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือ เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
 
             ทักษะสำคัญที่ลูกเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า จำเป็นต้องมี เรียกว่า 7 Essential Skills ซึ่งประกอบไปด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเป็น (Critical Thinking and Problem Solving), การคิดในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking), ความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล (Digital Wisdom), การรู้จักปรับตัวและการทำงานเป็นทีม (Collaboration), ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (Resilience), การสื่อสารชัดเจน มีประสิทธิภาพ (Communication) และความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น (Compassion) ทักษะเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีให้ลูกสามารถปรับตัวและเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์และสังคมวัตถุนิยม
 
             อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างทักษะทั้ง 7 ประการนี้ให้แก่ลูก คุณพ่อคุณแม่เองก็จำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันด้วยเช่นกัน โดยการสวมบทบาท Be 5 ที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรเป็นได้แก่ นักคิดสร้างสรรค์(Be Creator) เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพใหม่ๆ ให้แก่ลูก, นักเรียนรู้ (Be Learner) เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ให้แก่ลูกอย่างต่อเนื่อง, นักสื่อสาร(Be Communicator) เพื่อทักษะในการเจรจาพูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจด้วยเหตุและผล, นักจัดกระบวนการเรียนรู้(Be Facilitator) เพื่อสร้างแรงบันดาลและส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ของลูก และนักพัฒนา(Be Developer) เพื่อส่งเสริมความสามารถของลูกได้อย่างเต็มศักยภาพ
 
             ดร.วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาด้านปฐมวัย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา ได้ให้มุมมองความคิดเรื่องการเลี้ยงลูกเจนอัลฟ่าว่า “สิ่งที่เด็กเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า ต้องมี...อาทิ ทักษะการสื่อสาร ในเด็กเล็กจะเน้นภาษาท่าทางเป็นหลัก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจตีความและใส่ใจภาษาของลูก ต้องให้เขาเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสม เราสามารถกระตุ้นให้เขาพัฒนาการใช้ภาษา เช่น ถ้าเขาแสดงออกผ่านท่าทางหรือสื่อสารยังไม่ชัดเจน อาจถามเขาว่าหนูหมายถึงอย่างนี้ใช่ไหมลูก เราต้องสอนให้เขารู้จักวิธีแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสม และทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งอาจเกิดปัญหาในการใช้คำพูดผิดกาลเทศะบ่อยๆ เด็กสับสนว่าทำไมครูที่โรงเรียนบอกพูดอย่างนี้ไม่ได้ แต่พ่อแม่ไม่ห้ามหรือมองเป็นความน่ารักไป
 
             ทักษะการแก้ปัญหา ควรสอนการแก้ปัญหาให้เหมาะกับสถานการณ์ ต้องไม่ใช้กำลังเอาชนะ พ่อแม่ต้องใจเย็นและระมัดระวังในการแสดงออก ให้ลูกเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา โดยการพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาของเราให้เขาได้ยินบ้าง ชวนเขาคิดหรือชวนเล่นให้เป็นเรื่องสนุก หรือใช้ด้านบวกมาสอนลูก พยายายามให้ลูกได้เห็น ได้ยิน การแสดงความรักที่เรามีต่อคนอื่น เช่น ถ้าไปเยี่ยมคุณยาย แต่ไม่ได้ให้เป็นของฝาก คิดว่าเราน่าจะให้อะไรกับคุณยายได้ เช่น กอด บอกรักคุณยาย อย่าให้เป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว
 
             ทักษะคิด พ่อแม่ควรบอกลูกก็คือ ไม่ใช่สื่อเทคโนโลยีต่างๆ อย่างแท็บเล็ตไม่ดี แต่ต้องฝึกให้เขาเรียนรู้การเคารพกติกา ควบคุมเวลาเล่น ถ้าให้เล่นแค่ 10 นาทีห้ามต่อเนื่องนานเกินไป กำหนดไว้แบบไหนให้เป็นแบบนั้นเสมอ อธิบายผลเสียจากการเล่นแท็บเล็ตนานเกินไป เช่น สายตาเสีย หรืออ้วน ก็ควรหาภาพเป็นรูปธรรมให้ลูกเห็น เช่น รูปเด็กใส่แว่นตา เด็กอ้วน หรือไปหาหมอ เมื่อห้ามเล่นเป็นเวลานานแล้วก็ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทนกัน ต้องมีกิจกรรมสนุกให้เขาทำไม่ใช่ห้ามเพียงอย่างเดียว
 
             รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความเห็นว่า สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว อยากให้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับเกี่ยวกับเจนเนอเรชั่นต่างๆ เพราะในแต่ละเจนเนอเรชั่นล้วนสำคัญและมีความหมายมาก ไม่ว่าจะเป็น เบบี้ บูมเมอร์ ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังสงครามที่ลำบากต้องปากกัดตีนถีบ ส่งผลทำให้คนรุ่นนี้มีความขยันขันแข็ง อดทน แล้วคนรุ่นต่อมาอย่าง เจนเนอเรชั่น เอ็กซ์(X), เจนเนอเรชั่น วาย(Y) และเจนเนอเรชั่น ซี(Z) จนมาถึงเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นล่าสุดอายุเพิ่งจะ 5 ขวบ นับเป็นความท้าทายของคนทุกรุ่นที่ต้องสร้างทักษะเพื่อปรับตัวลดช่องว่างในการเป็นพลเมืองของยุค เจนเนอเรชั่น อัลฟ่า

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ