Lifestyle

'อับบาส'กับชีวิตนักศึกษาไทยในปากีสถาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกการศึกษามุสลิมตอนที่ 2 : 'อับบาส'กับชีวิตนักศึกษาไทยในปากีสถาน

              วันนี้ยังคงเกาะติดสถานการณ์เรื่องราวของน้องๆ นักศึกษาไทยในปากีสถาน หลังจากมีข่าวนักศึกษาไทยพกพาอาวุธปืนขึ้นเครื่องบินและโดนจับกุมพร้อมเพื่อนอีก 4 คน ขณะนี้ยังคงเงียบไม่มีข้อมูลใดๆ อีกเลย ทำให้หลายๆ คนเริ่มสงสัยอยากรู้เบื้องลึกของชีวิตเด็กนักศึกษามุสลิมไทยอีกหลายร้อยคนในประเทศปากีสถานว่า พวกเขาไปศึกษาอะไรกัน และทำไมต้องพกปืนเกิดเป็นคดีใหญ่โต หรือว่า “ไปฝึกรบเพื่อเตรียมตัวเป็นพวกก่อความไม่สงบ” ซึ่งกลายเป็นโลโก้หรือภาพลักษณ์ที่ใครๆ ต่างมองผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะศึกษาในด้านศาสนา วันนี้ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกสมาคมและเข้ามารับตำแหน่งกิจการนักศึกษาฯ ในปีนี้ 2015 อับบาส หวันเต๊ะ นักศึกษาจาก จ.นครศรีธรรมราช เป็นคนที่ 5 ของพี่น้อง 5 คน ซึ่งขณะนี้จบการศึกษาแล้วจาก มหาวิทยาลัย “Jamia Binnuria University International” ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนแห่งนี้กว่า 9 ปีแล้ว รับรู้เรื่องราวของนักศึกษาที่นี่อย่างดี

               อดีตนายก “อับบาส” เล่าให้ฟังถึงการศึกษาของนักศึกษาไทยที่สถาบันการศึกษาที่เมืองการาจี มีอยู่ทั้งหมด 3-4 สถาบัน ที่ลาโฮและอิสลามาบัตสถาบันการศึกษามีเกินกว่า 5 สถาบันใหญ่ๆ  ส่วนสถาบันการศึกษาที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดเป็นที่รู้จักของผู้คนที่จะมาศึกษาที่นี่คือ “มัรกัส ตับลีฆ ไรวิน” หลักสูตรการศึกษาในปากีสถานนั้น 8 ปี แต่ก็มีบางสถาบันใช้หลักสูตรแค่ 6 ปี อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และมีอีกส่วนซึ่งเป็นชาวต่างชาติเป็นครูผู้สอน ภาษาที่ใช้ในการสอนคือภาษาอาหรับและอูรดู

              ดังนั้นนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ที่มาศึกษาในประเทศนี้จะพูดภาษาอาหรับและอูรดูได้ เพราะประเทศแห่งนี้ใช้สองภาษานี้ในการสื่อสาร ส่วนใหญ่นักศึกษาที่มายังประเทศปากีสถานจะเข้ารับการศึกษาด้านศาสนาเท่านั้น และส่วนใหญ่มาด้วยทุนการศึกษาของตัวเอง บางคนก็มีผู้ใหญ่ใจดีคนรวยในหมู่บ้านสนับสนุนให้ทุนการศึกษา

              อับบาสเองเรียนด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่ และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในเมืองการาจีและออกมาเช่าหอพักอยู่ต่างหาก เนื่องจากอิสระในการใช้ชีวิต แม้จะต้องออกค่าเช่าที่พักและค่าอาหารเองก็ตาม แต่ก็ยังมีนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในสถาบันอื่นๆ มีหอพัก อาหารการกินฟรี แล้วแต่นักศึกษาจะเลือกใช้ชีวิตโดยได้รับอิสระเต็มที่ แต่เข้มงวดในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ทุกคนต้องทำตามกฎอย่างชัดเจน นักศึกษาไทยยังคงอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนและมีการติดต่อไปมาหาสู่กันเสมอ และอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมนักเรียนไทยในปากีสถาน มีการจัดกิจกรรมต่างๆ แบบมีขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการรับน้อง หรือกิจกรรมอื่นๆ โดยมีสถานกงสุลใหญ่และแม่บ้านคนไทยเข้ามาร่วมด้วยทุกครั้ง

              อับบาส อธิบายชีวิตนักศึกษาไทยที่นี้ว่า สถาบันการศึกษาที่ปากีสถานเน้นเรื่องการเรียน ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ทุกวัน เพื่อละหมาดสุโบ๊ะห์ ละหมาดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า หลังจากนั้นรีบเตรียมรับประทานอาหารเช้า เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียน เรียนจนถึงตอนเที่ยง ให้นักเรียนได้รับประทานอาหารเที่ยงแล้วพักผ่อน หลังจากนั้นต้องต่อด้วยละหมาดซุฮ์รี “ละหมาดตอนเที่ยง” ก็ต้องเตรียมตัวทบทวนบทเรียน และเริ่มเรียนจนถึงตอนเย็น เมื่อพักละหมาดอัสรี่ “ละหมาดตอนเย็น” ก็ได้เวลาออกกำลังกาย เช่น เตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ

              หลังจากนั้นรีบเตรียมตัวอาบน้ำเพื่อละหมาดมัฆริบ “ละหมาดตอนตะวันตกดิน” ก็มีการเรียนการสอนอัลกุรอานจนถึงเวลาละหมาดอีฉา “ละหมาดตอนกลางคืน” นักศึกษาก็เตรียมตัวรับประทานอาหารค่ำ และต่อเวลาอีก 45 นาที เพื่อทบทวนบทเรียนจนเกือบ 5 ทุ่ม หลังจากนั้นก็เตรียมตัวพักผ่อน ชีวิตนักศึกษาที่นี่จะไม่ค่อยได้มีเวลาไปมาหาสู่ หรือนินทา พูดคุยเรื่องโลกนี้มากนัก ทุกคนทุ่มเทกับชีวิตการศึกษาที่สอนให้มองโลกในแง่ดี และอยู่อย่างสมถะ พอเพียง แต่ไม่เคยสอนให้แพ้ภัยตัวเอง ทั้งความรู้สึกที่มาจากตัวเองหรือสังคมโลกภายนอก

              นักศึกษาส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษางานหลักก็คือ การเป็นครูสอนศาสนา สอนภาษา หรือทำธุรกิจส่วนตัว แล้วแต่ใครถนัดในด้านใน เพราะการศึกษาศาสนาอิสลามสอนให้ปกครองตัวเองอย่างอิสระ พวกเราส่วนใหญ่จึงไม่ยึดติดกับใบประกาศนียบัตรเพื่อเอาไปสร้างอาชีพ เพราะอาชีพเกิดขึ้นได้จากความสามารถที่เรามีต่างหาก

              อับบาส บอกว่า นักศึกษาศาสนา โดยเฉพาะในประเทศปากีสถาน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเพื่อการศึกษาอย่างเดียวจากระยะเวลา 9 ปีเต็มที่ได้ศึกษาที่นี่ ทุกคนมาเพื่อฝึกตัวเองให้อยู่ในกรอบศาสนา มั่นใจในศาสนาอิสลาม ที่สอนให้เรามองคนให้ถึงหัวใจ มองสังคมลึกอย่างเข้าใจ และพร้อมจะร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยหัวใจ ไม่ใช่ด้วยตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงหรือเงินทอง สถาบันสอนศาสนาอาจไม่มีรูปแบบที่สวยงาม เหมือนที่อื่นๆ แต่เรื่องการขัดเกลาจิตใจ ให้อยู่แบบพอเพียงแล้วจะเพียงพอ คือ จุดเริ่มต้นของความสุข นี่คือผลดีของการศึกษาด้านศาสนา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ