วิกฤติ 'ขยะ' ทะเลไทย
14 มิ.ย. 2558
รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : วิกฤติ 'ขยะ' ทะเลไทย มิเพียงโลกไม่สวยสดใส ยังตัดวงจรสัตว์ทะเลหายาก : โดย...ธนชัย แสงจันทร์
Healthy oceans, healthy planet ทะเลสวยสะอาด โลกสวยสดใส ถือเป็นแนวคิดในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องใน "วันทะเลโลก" ที่เพิ่งผ่านมา (8 มิ.ย.58) แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดวันทะเลโลกเท่านั้น
แต่เป็นหนึ่งในนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งหวังให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างจริงจัง เพราะกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ โดยมีเป้าหมาย สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างบูรณาการที่ตอบสนองต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวถึงวิกฤติทางทะเลว่า ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลของไทยต้องประสบกับภาวะเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ได้แก่ ปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 1.52 ล้านไร่ ปัญหาการตายของสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล โลมา พะยูน ปัญหาแนวปะการังที่มีความสมบูรณ์เพียงร้อยละ 10-20 ปัญหาขยะทะเลในรอบ 6 ปี ที่มีสถิติสะสมสูงถึงกว่า 50 ตัน ซึ่งขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล
“จังหวัดภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ โดยสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยว มูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ขณะเดียวกันธุรกิจการท่องเที่ยวทางทะเลกลับส่งผลให้เกิดขยะจำนวนมากจนสร้างปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ขยะบางส่วนนำไปฝังกลบ แต่ยังไม่เพียงพอกับจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น ขยะบางส่วนถูกทิ้งหรือหลุดลอยลงสู่ทะเล” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
และว่า ปัญหาขยะส่งผลให้สัตว์น้ำและระบบนิเวศใต้ท้องทะเล เพราะขยะมูลฝอยจำพวกถุงพลาสติกและขวดน้ำที่ลงสู่ท้องทะเล จะไปปกคลุมแหล่งปะการังที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเมื่อปะการังฟอกขาว กระทั้งตาย ทั้งที่แนวปะการัง จะเป็นกำแพง ช่วยป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นและกระแสน้ำโดยตรง บริเวณชายฝั่งที่แนวปะการังถูกทำลายจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจากคลื่นลมทะเลในฤดูมรสุม
ด้าน ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทะเลทั่วโลกกำลังเผชิญกับขยะที่มีสูงถึง 6.4 ล้านตันที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล ในจำนวนนี้ของไทยมีปริมาณปีละ 50 ตัน โดยที่มาของขยะส่วนใหญ่เกิดจากการท่องเที่ยว เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม รองลงมาจะเป็นขยะจากการประมง เช่น เศษเชือก อวน โดยขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชายหาดท่องเที่ยวที่เกิดความสกปรก
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า นอกจากขยะดังกล่าวแล้ว ยังมีขยะอื่นๆอีกมากมาย และ 10 อันดับที่มากที่สุด คือ ถุงพลาสติก ร้อยละ 15.2 เชือกร้อยละ 9.9 ฝาน้ำร้อยละ 9.69 กระดาษหนังสือพิมพ์/ใบปลิว ร้อยละ 5.96 ขวดเครื่องดื่มแก้วร้อยละ 5.78 บุหรี่และก้นกรองบุหรี่ ร้อยละ 5% หลอดเครื่องดื่มร้อยละ 4.6% ถ้วย/จาน/ช้อน/ส้อมและมีดร้อยละ 4.06 และขวดเครื่องดื่มพลาสติก ร้อยละ 3.18
ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ปะการังในไทยเหลือแค่ 23% ยังลดลงปีละ 1% หมายถึงหากเราไม่ทำอะไร ปะการังจะหมดเมืองไทยใน 20 ปี ปะการังเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสุดในทะเล และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในโลก
ที่สำคัญยังส่งผลต่อการตายของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมาจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึงปีละ 300 ตัวจากเดิมที่เคยเก็บสถิติสัตว์ทะเลตายจากการกินขยะเพียงปีละ 100 ตัวเท่านั้น และร้อยละ 2-5 มาจากการกินขยะที่ไปอุดตันในกระเพาะอาหาร
จากปัญหาที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตทางทะล ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กในเพจ Thon Thamrongnawasawat กล่าวถึง “วิกฤตอุทยานแห่งชาติทางทะเล” ในลักษณะของจดหมายเปิดผนึก ในหลากหลายประเด็น พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไข ดังนี้
1. ขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกาศแนวปะการังทั้งประเทศเป็น "เขตวิกฤติ" และอาศัยอำนาจในมาตรา 22 ของพ.ร.บ.ทะเล (ฉบับที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เดือนมิถุนายนนี้) เพื่อจัดการกับปัญหาอย่างเฉียบขาด
2. ตั้งคณะกรรมการ "กู้วิกฤติแนวปะการัง" โดยระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนและประชาชน เข้ามาช่วยกันจัดทำมาตรฐานเร่งด่วนโดยเร็วที่สุด คณะกรรมการดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะลำพังแค่หน่วยงานเพียง 2-3 หน่วยตามข้อสั่งการท่านนายกฯ ไม่สามารถจะกู้วิกฤติครั้งนี้ได้
3. คณะกรรมการต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรก (1-3 เดือน) โดยวางแผน กำหนดนโยบาย กำหนดพื้นที่ ตั้งอนุกรรมการประจำพื้นที่ซึ่งจำเป็นมาก เพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพทรัพยากรแตกต่างกัน ปัญหาต่างกัน เราต้องแยกกันจัดการ ไม่ใช่ใช้นโยบายเดียวทำทุกอย่าง มันจะพังเละเหมือนที่เคยเป็นมา
4. เมื่อมาตรการขั้นต้นได้รับการปฏิบัติ เราต้องวางยุทธศาสตร์ในระยะต่อไป ผมแนะนำว่า สผ. มียุทธศาสตร์เรื่องปะการังที่ใช้เวลาทำนานมาก มีรายละเอียดอยู่มาก แต่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักประมาณ 5 ปีมาแล้ว (ม.รามคำแหงเป็นผู้ทำนะครับ ไม่ใช่ผมชงเองตบเอง)
5. ท้ายสุด มาตรการและยุทธศาสตร์ครั้งนี้ต้องมีตัวชี้วัดชัดเจน ต้องกำหนดพื้นที่ในการติดตามความเปลี่ยนแปลงของปะการังอย่างใกล้ชิด มีการรายงานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ มิใช่ให้ปะการังตายมาตั้งหลายปีแล้วเพิ่งจะตื่นตัวกัน ดัชนีชี้วัดต้องดูจากปะการังฟื้นหรือไม่ฟื้น ไม่ใช่เราประชุมกันไปกี่ครั้ง จะประชุมล้านครั้งถ้าปะการังไม่ฟื้นก็ไร้ค่า
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขและฟื้นฟู โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะรอเพียงพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 58 คงไม่พอ เพราะโลกใบนี้จะสวยได้ด้วยมือเราทุกคน รวมถึงแนวคิด Healthy oceans, healthy planet ...
--------------------
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : วิกฤติ 'ขยะ' ทะเลไทย มิเพียงโลกไม่สวยสดใส ยังตัดวงจรสัตว์ทะเลหายาก : โดย...ธนชัย แสงจันทร์)