Lifestyle

ม.ราชภัฏนครฯจัดสอนวิจัยนำไปใช้จริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ม.ราชภัฏนครฯ จัดสอนวิจัยนำไปใช้จริง 'ไม่ขึ้นหิ้ง แต่ขึ้นห้างได้จริง'


               ในวงการวิจัยโดยทั่วไปนั้นนักวิจัยทุกท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ใช้เปรียบเปรยงานวิจัยที่ทำขึ้นว่าเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง หรือขึ้นห้าง  และนักวิจัยหลายๆ ท่านก็คงจะไม่อยากจะให้งานวิจัยของตนเองเป็นประเภทงานวิจัยที่ขึ้นหิ้ง แต่อยากจะให้งานวิจัยที่ขึ้นห้างมากกว่า  จากคำ ๆ นี้ทำให้ ผศ.วรรณชัย พรหมเกิด นักวิจัยดีเด่นประจำปี 2553 อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำมาพัฒนาการสอนวิจัยให้แก่นักศึกษาสายครูวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4  ได้มีความตระหนักในการทำวิจัยให้มีคุณภาพสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อวางจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปได้  ใช่ว่าจะให้นักศึกษาทำงานวิจัยแบบเน้นหนักด้านแนวคิด หรือด้านทฤษฎี  แต่ให้นักศึกษาเหล่านี้ได้เน้นหนักในด้านปฏิบัติมากกว่า 

               โดยเริ่มจากการสอนวิจัยเบื้องต้น คือ ให้นักศึกษาเริ่มหัดทำวิจัยเบื้องต้นก่อน 1 เทอม  คือจะต้องทำวิจัย 3 บท  เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการศึกษาเรื่องวิจัยและเพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาจากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก่อน ถึงจะนำมาต่อยอดในการวิจัยแบบเต็มรูปแบบ คือ จะต้องนำทฤษฎีที่ได้ศึกษามาทำการทดลอง แล้วนำผลที่ได้มาสรุปเป็นงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของนักศึกษาได้จริง  และหลังจากนั้น ผศ.วรรณชัย ได้ให้โจทย์งานวิจัยแก่นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของท่านไปคิดว่าจะทำวิจัยอะไรที่จะต้องสอดคล้องกับทฤษฎีที่ได้ศึกษามา จึงเป็นที่มาของการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้น้ำทิ้งจากระบบแก๊สชีวภาพสำหรับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน”  

               งานวิจัยนี้นักศึกษาจะต้องคิดค้นว่าจะนำน้ำทิ้งจากระบบการหมักเพื่อทำแก๊สชีวภาพมาทำอะไรเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากน้ำเหล่านั้นหลังจากที่ผ่านการหมักแล้วก็จะต้องนำไปทิ้งตามชื่อจริง ๆ  ทำให้นักศึกษาต้องการที่จะไม่นำน้ำเหล่านั้นไปทิ้งตามชื่อ  จึงทำให้เกิดเป็นงานวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้น้ำทิ้งจากระบบแก๊สชีวภาพสพหรับการปลูกพืชโดยไม่ใช่ดินขึ้น  โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.วรรณชัย จะให้นักศึกษาทำการทดลองจากของจริงทั้งหมด หลังจากที่นักศึกษาเหล่านั้น  ได้ทำการศึกษาจากทฤษฎีมาแล้ว 1 เทอม และนำความรู้จากทฤษฎีนั้นมาทำการทดลอง  โดยเริ่มแรกจะต้องจัดเตรียมสถานที่สำหรับทดลอง คือ พื้นที่ว่างในภาควิชาเกษตรเป็นสถานที่สำหรับทำการทดลอง ทุกวันหลังจากเลิกฝึกสอนนักศึกษาเหล่านั้นจะเข้ามารวมกลุ่มอยู่ในสถานที่สำหรับทดลองของทุกกลุ่ม แม้กระทั้งในช่วงปิดเทอม  นักศึกษาเหล่านี้ก็จะเข้ามาจัดการพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็นสถานที่ในการทดลอง โดยเริ่มจากการทำแผงปลูกผักไร้ดินทำโรงเรือน เดินท่อ        ออกซิเจน เดินท่อน้ำ เป็นต้น

               หลังจากที่นักศึกษาทำการจัดการพื้นที่ในการสร้างโรงเรือนเพื่อทำการทดสอบเสร็จสิ้นแล้วขั้นต่อไปเป็นขั้นตอนการทดลอง ในขั้นตอนนี้นักศึกษาทุกกลุ่มจะต้องลงมือปฏิบัติจริง คือ จะต้องเริ่มต้นทำตั้งแต่ขั้นตอนการนำพืชชนิดต่าง ๆ  ที่ตนเองจะทำการทดลองมาหมัก อาทิ นำผลส้มแขกสด นำเปลือกแตงโมมาหันเป็นชิ้น เพื่อหมักเป็นแทนน้ำส้มฆ่ายาง  หรือทำการเพาะเมล็ดพันธุ์ของผักที่ทำการทดลอง เช่น เมล็ดพันธุ์ของผักบุ้ง ผักกว้างตุ้ง  ผักกาด มาเพาะเพื่อเป็นต้นกล้าในการทดลอง ซึ่งเวลาที่ใช้ในการเตรียมในขั้นตอนต่าง ๆ นั้นเป็นเวลาประมาณ 45 วัน 

               หลังจากเสร็จสิ้นจากขั้นตอนการจัดเตรียมแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทดลอง อาทิ การทดลองของกลุ่มที่ปลูกพืชใช้เศษตะกอนจากการหมักแก๊สชีวภาพมาผสมปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยทำการทดลองเป็น 4 ชุดทดลอง คือชุดที่ 1 ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 100% ชุดที่ 2 ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 80% กากตะกอนจากการหมัก 20 %  ชุดที่ 3 ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 20% กากตะกอนจากการหมัก 80% และชุดที่ 4 ใส่กากตะกอนจากการหมัก 100% หลังจากนั้นก็จะเริ่มการสังเกตว่าการปลูกโดยวิธีใดได้ผลดีมากที่สุด  โดยเวลาในช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 – 35 วัน นักศึกษาที่ทำการทดลองจะจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงทุกวัน แล้วนำแบบสิ่งที่ตนเองจดบันทึกไว้มาสรุปเป็นผลการทดลอง  และขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็นการสรุปผลการทดลองที่ได้แล้วนำมารวบรวมเป็นวิจัยในขั้นตอนสุดท้าย             

               ผศ.วรรณชัย พรหมเกิด ยังกล่าวก่อนปิดท้ายการสัมภาษณ์อีกว่า ในการวิจัยในครั้งนี้อยากจะให้นักศึกษาสายครูวิทยาศาสตร์นั้นผลิตงานวิจัยประเภทที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการประกอบอาชีพ หรือการดำเนินชีวิตของตัวนักศึกษาเองต่อไปในอนาคตอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ