Lifestyle

'อีเลิร์นนิ่ง'เทรนด์การศึกษาอนาคตโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'อีเลิร์นนิ่ง'เทรนด์การศึกษาอนาคตโลก เรื่อง... ชุลีพร อร่ามเนตร -ภาพ... วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

          “การศึกษา” เป็นหนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่นำไปสู่การพัฒนาชาติ ซึ่งทุกประเทศต่างให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา หลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิต บุคลากรที่มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี และคนเก่ง ทว่าระบบการศึกษาประเทศไทยที่ผ่านมากลับถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า ล้มเหลวบ้าง หลงทางบ้าง ไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่แท้จริง
 
          ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน อธิการบดีกิตติคุณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วทส.) ย้อนมองระบบการศึกษาไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันว่า ระบบการศึกษาทั่วโลก รวมถึงอเมริกา บิวเกต บอกว่า ใช้ไม่ได้เลย เพราะยังเป็นการเรียนแบบโบราณ คือเรียนในห้องเรียน ทั้งที่เด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่า อนาคตหากจะให้การศึกษายังคงเป็นเครื่องมือในการพัฒนา สร้างเด็ก ต้องมีการบูรณาการใหม่ทั้งระบบ
 
          “เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็เรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว สงสัยอะไรก็ไปถามอากู๋ หรือ Google ซึ่งระบบการจัดการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต หรืออีเลิร์นนิ่ง จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการศึกษาทั้งโลก ที่ทุกๆ ประเทศต่างให้ความสำคัญ ปรับใช้ในระบบการเรียนการสอน เพื่อจัดการศึกษาของประเทศตนเองให้เข้าถึงเด็กได้ง่ายมากขึ้น
 
          อย่างตอนนี้ประเทศใหญ่ๆ เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 97 เปิดสอนอีเลิร์นนิ่ง เพราะมีคนสนใจเรียนมาก, ประเทศจีน ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ประมาณ 5 หมื่นกว่าแห่งที่เปิดสอนอีเลิร์นนิ่ง ทำให้ตอนนี้มีคนเรียนด้วยระบบอีเลิร์นนิ่งทั้งโลกประมาณ 1,000 ล้านคน อนาคตอันใกล้นี้ เรียกได้ว่า อีเลิร์นนิ่ง เป็นการเรียนหลัก ส่วนการเรียนในห้องเรียนจะเป็นส่วนที่มาเสริมเท่านั้น”
 
          ผลสำรวจเกี่ยวกับการจ้างงานเด็กที่จบการศึกษาจากห้องเรียนกับเด็กที่จบการศึกษาผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง ในต่างประเทศพบว่า ผู้จ้างงานจะจ้างคนที่จบอีเลิร์นนิ่ง เพราะว่าคนที่จบในห้องเรียนธรรมดา บางคนตั้งใจ บางคนไม่ตั้งใจ แถมบางคนพ่อแม่สั่งให้เรียน แต่เด็กที่จบจากอีเลิร์นนิ่งได้นั้น ต้องตั้งใจถึงจะจบ
 
          ศ.ดร.ศรีศักดิ์ อธิบายต่อว่า คนไทยบางกลุ่มยังมองว่าอีเลิร์นนิ่งไม่ได้คุณภาพ แต่ในความเป็นจริงคุณภาพการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งไม่ด้อยไปกว่าการเรียนในห้องเรียน สมัยนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนรวดเร็วมาก ภายใน 5 ปี สิ่งที่เราเรียนมาก็นำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช้อีเลิร์นนิ่ง การศึกษา บุคลากรไทยที่จบออกมาก็สู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ อีกทั้งเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต อีเลิร์นนิ่งจะทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนง่ายขึ้น เพราะอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ทำให้มหาวิทยาลัยดังๆ ในประเทศอเมริกา อังกฤษ ต่างเปิดสอนฟรีทางไกลอินเทอร์เน็ต เพื่อพัฒนาคนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
 
          การจัดหลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง โดยหลักแล้วมาตรฐานของหลักสูตรต้องเหมือนกันหมดทุกแห่ง โดยในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการจัดการศึกษาอีเลิร์นนิ่ง โดยศ.ดร.ศรีศักดิ์เป็นหนึ่งในกรรมการ เล่าว่า มีหลักสูตรที่กำลังพิจารณาอยู่ประมาณ 150 หลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ และเล็กๆ ของไทยสนใจเปิดการเรียนการสอน ซึ่งบางแห่งก็มีการจัดอีเลิร์นนิ่งอย่างมีคุณภาพ แต่มีบางแห่งฉวยโอกาสเปิดสอนตามห้องแถว และบอกว่าเป็นการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่
 
          ดังนั้นต้องมีการกวดขันเรื่องการจัดการศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่งว่าต้องได้มาตรฐาน อาจารย์ต้องพร้อม หนังสือต้องมี คอมพิวเตอร์ต้องเพียงพอ หลักสูตรต้องมีคุณภาพ และจะมีการตรวจสอบมาตรฐานประเมินทุก 5 ปี หากประเมินแล้วไม่ได้มาตรฐานต้องปิดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม นักศึกษาสามารถตรวจสอบหลักสูตรอีเลิร์นนิ่งว่ามหาวิทยาลัยไหนได้หรือไม่ได้มาตรฐานจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา www.mua.go.th
 
          “ระบบการศึกษาอีเลิร์นนิ่งในประเทศไทย แม้ตอนนี้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาทางไกลรองรับ เป็นเพียงแห่งเดียวในอาเซียนที่มีหลักสูตรปริญญาเอกอีเลิร์นนิ่ง แต่หากต้องการเป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษาอีเลิร์นนิ่งในอาเซียน ระบบการศึกษาไทยต้องปรับใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับล่าง ควรนำระบบอีเลิร์นนิ่งมาใช้ในการสอน ให้ครูโรงเรียนเก่งๆ มาสอนแล้วถ่ายทอดไปทุกโรงเรียน เด็กจะได้ไม่ต้องไปแย่งชิงสอบเข้าโรงเรียนดัง รวมทั้งควรนำวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมกลับมาสอน เพราะการศึกษาไทยให้เด็กเรียนวิชาการ เรียนคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ให้เด็กเรียนหน้าที่พลเมือง ศีลธรรมทำให้พวกเขาลืมกันหมด”
 
          ส่วนต้องใช้เวลานานขนาดไหนที่ประเทศไทยจะสามารถยกเครื่องระบบการศึกษาก้าวสู่การเรียนรู้โฉมใหม่ ไร้พรมแดนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งได้นั้น? ศ.ดร.ศรีศักดิ์ เชื่อมั่นว่า คนไทยเก่ง ขอให้มีโอกาส และไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และต้องไปล็อบบี้คนแก่ๆ คนเก่าๆ ทั้งหลาย แบบที่คิดอยู่เก่าแล้วใช้ไม่ได้ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกล้าคิด กล้าทำ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับรัฐมนตรี ที่เข้ามาร่วมผลักดัน การจัดการศึกษาอีเลิร์นนิ่งอย่างแท้จริง เพราะหากทำหลักสูตรที่มีคุณภาพ นอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ศักยภาพของคนให้กลายเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว ยังอาจทำให้มีรายได้มหาศาลจากผู้เรียนที่เดินทางเข้ามา
 
          “อีเลิร์นนิ่ง” นอกจากเป็นเทรนด์ใหม่ของการศึกษาในอนาคตที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคใหม่แล้ว “ศ.ดร.ศรีศักดิ์” ตั้งเป้าจะพัฒนาหลักสูตรอีเลิร์นนิ่งระดับปริญญาเอกให้ได้ 6 สาขา โดยเน้นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ รวมถึงจัดทำหลักสูตรอีเลิร์นนิ่งระยะสั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมไทย เช่น ทำอย่างไรไม่ให้ชายไทยมีเมียน้อย เด็กไทยไม่เกเร เป็นต้น
.......................................
(หมายเหตุ 'อีเลิร์นนิ่ง'เทรนด์การศึกษาอนาคตโลก  เรื่อง... ชุลีพร อร่ามเนตร -ภาพ... วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ