ไลฟ์สไตล์

อึ้ง!เด็กไทยอ่านหนังสือ2-5เล่มต่อปี

อึ้ง!เด็กไทยอ่านหนังสือ 2-5เล่มต่อปี สิงคโปร์-เวียดนาม อ่าน 50เล่ม คนไทยอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/ทำงาน ร้อยละ 68.8 เฉลี่ยอ่านหนังสือคนละแค่ 35 นาทีต่อวันต่อคน เร่งกระจายการอ่านหนังสือทั่วไทย

                        2 ต.ค.55 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) แถลงข่าว เรื่อง "มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 (Book Expo Thailand 2012)" โดยนายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจเรื่อง การอ่านหนังสือของประชากร ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554 ใน53,000 ครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน ร้อยละ 68.8 ผู้ชายอ่าน ร้อยละ 69.3 ผู้หญิงอ่าน ร้อยละ 68.3 ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีการอ่านมากที่สุด ร้อยละ 89.3 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด ร้อยละ 62.8 ประเภทหนังสือที่อ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน มากที่สุด คือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 63.4 รองลงมาเป็นตำรา/หนังสือ/เอกสารที่ให้ความรู้ ,นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น นิตยสาร และแบบเรียน/ตำราเรียนตามหบักสูตร ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันอยู่ที่ ร้อยละ 32.4-36.6 ส่วนหนังสือ/เอกสารเกี่ยวกับคำสอยทางศาสนา มีผุ้อ่านน้อยกว่า ร้อยละ 30 และหนังสือประเภทอื่นๆมีผู้อ่านเพียง ร้อยละ 2

                         นายวรพันธ์ กล่าวต่อว่า จำนวนเวลาที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงาน คือ ผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือเฉลี่ย 35 นาทีต่อวันต่อคน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 40-41 นาทีต่อวันต่อคน มากกว่าวัยทำงานและะผู้สูงอายุที่ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 31-32 นาทีต่อวันต่อคน

                        "เมื่อเปรียบเทียบสถิติการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานของกลุ่มอายุดังกล่าว พบว่า ปี2554 มีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ66.3 เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 2.3 และการอ่านหนังสือต่อวันลดลงเรื่อยๆ จากเฉลี่ย 35 นาทีต่อวันอาจจะเหลือ 30 นาทีและเมื่อเทียบอัตราจาก 100 คนอาจจะเหลือไม่ถึงครึ่งหรือ 50 คนที่อ่านหนังสือจากปัจจุบัน 68.8 เพราะวิถีชีวิตใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจ จากการอ่านหนังสือ เช่น อยู่กับเกมหรือโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงในระยะยาว"นายวรพันธ์ กล่าว

                         นายวรพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 จึงมีแนวคิดหลัก คือ "อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี" เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความแตกต่างในพฤติกรรมของสังคมไทยว่ามีความไม่เท่าเทียมกันทั้งที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยการจัดงานครั้งนี้ได้มีการขยายพื้นที่ขายและแสดงหนังสือกว่า 1 พันบูท สูงสุดเท่าที่เคยดำเนินการมา เชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสให้ผุ้ผลิตหนังสือได้นำหนังสือมาแสดงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 พันชื่อเรื่อง เพิ่มโอกาสให้ผู้อ่านได้เลือกหนังสือที่ตนเองสนใจมากขึ้น คาดว่าจะมีผุ้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน มียอดขายไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนเล่มไม่น้อยกว่า 1 ล้านเล่มและเป็นนักอ่านจากทั่วประเทศ

                         "จากการดำเนินจัดกิจกรรมสัปดาห์หนังสือในส่วนภูมิภาคทำให้ทราบข้อมูลว่า สาเหตุที่การอ่านในภูมิภาคต่างๆไม่เติบโตมากนักเมื่อเทียบกับส่วนกลาง เกิดจากหนังสือเข้าไปไม่ถึงผู้อ่านมากกว่าความไม่อยากอ่าน การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหนังสือเชื่อว่าจะทำให้เกิดการอ่านทั้งประเทศ เพราะการอ่านที่จะช่วยให้ประเทศชาติมั่นคงและเข้มแข็ง แข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนได้ต้องเป็นการอ่านทั้งประเทศ"นายวรพันธ์กล่าว

                         นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษาและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)กล่าวว่า เด็กไทยอ่านหนังสือ 2-5 เล่มต่อปี ขณะที่เด็กสิงคโปร์และเวียดนามอ่านถึง 50-60 เล่มต่อปี เพราะฉะนั้นต้องพยายามเพิ่มพฤติกรรมการอ่านหนังสือ ซึ่งพบว่าการอ่านสัมพันธ์กับระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ จึงต้องเน้นการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มคนด้อยการศึกษาและยากจนที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ โดยทำให้วัฒนธรรมการอ่านเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต เริ่มด้วยการทำให้เกิดความเข้าใจว่าการอ่านหนังสือมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างไร จะเป็นจุดสร้างความต้องการอ่านหนังสือได้อย่างมาก

                        อย่างไรก็ตาม งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 ตุลาคม2555 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pubat.co.th หรือ www.facebook.com/Book Thai

ข่าวยอดนิยม