
หวั่นภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน
หวั่นเรงงานขาดแคลนทุกกลุ่มอุตฯ หลังพบการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แนะเอกชนเตรียมพร้อมลงทุนเครื่องจักร หนุนเพิ่มรายได้ ส่วนภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจแรงงานมากขึ้น
นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเผชิญกับปัญหาแรงงานที่ตึงตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งปัจจุบันพบว่าอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.7% หรือคิดเป็นจำนวนคนที่ว่างงานเพียง 2-3 แสนคนเท่านั้น และพบว่ามีการใช้อัตราการผลิตที่ค่อนข้างจะเต็มกำลังแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนกลุ่มยานยนต์นั้น หากไม่เผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ก็เชื่อว่ากำลังการผลิตน่าจะเต็มกำลังเช่นกัน
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ควรต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานหรือทำงานที่มีต้นทุนเครื่องจักรที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ของแรงงาน ขณะที่การหาทางออกด้วยการดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาลดช่องว่างปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องมองผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
"เท่าที่ลงพื้นที่สำรวจพบปัญหาแรงงานค่อนข้างตึงตัวในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และจากการสอบถามภาคธุรกิจต่างๆ ก็ตอบเหมือนกันหมดว่า ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทางออกที่ดีที่สุด คือต้องพัฒนาแรงงานไทยเพื่อเพิ่มรายได้" นายทรงธรรมกล่าว
นายกำพล อดิเรกสมบัติ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ จึงมองว่าภาคธุรกิจอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในการจัดหาทรัพยากรบุคคล ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เพิ่มการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานหรือพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ
นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาผ่านทางการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ลดการแทรกแซงตลาดแรงงาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้แรงงานสูงอายุในอุตสาหกรรม และกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลนให้ทำงานนานขึ้น ขณะที่เอกชนควรกำหนดหลักสูตรเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงงานมีฝีมือ และตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ