ข่าว

ตีกรอบรัฐกู้ฉุกเฉินไม่เกิน5แสนล.คุมหนี้สาธารณะ60%-คาดกนง.ลดดอกเบี้ย0.25%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐเร่งสรุปวงเงินกู้ฉุกเฉินพิเศษ วางกรอบไม่เกิน 5 แสนล้านบาท คุมหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี คาดเพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดการเงินคาด กนง.ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25-0.50% ในการประชุม 8 เมษายนนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาขนาดวงเงินที่เหมาะสมสำหรับการออกพระราชกำหนดที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ โดยเบื้องต้นกำหนดว่าไม่ควรเกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ทำให้ภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของรัฐบาลไม่เกิน 60% ซึ่งถือเป็นระดับที่บริหารจัดการได้อย่างมีความยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ต้องการใช้วงเงินเท่าใด คาดว่าจะมีการสรุปได้เร็วๆ นี้

 ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงินในกรณีพิเศษดังกล่าวจะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2552-2554 สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่กำหนดวงเงินลงทุนไว้ที่ 1.56 ล้านล้านบาท เชื่อว่าเมื่อรวมวงเงินกู้พิเศษและวงเงินกู้ตามกฎหมายคือ การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ และวงเงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาลแล้ว น่าจะเพียงพอสำหรับแผนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสองของรัฐบาล

 รายงานข่าวกล่าวว่า การออกกฎหมายกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ หรือการกู้เงินที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไขกฎหมายการกู้เงินตามปกติ ได้เคยทำมาแล้วในอดีต โดยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงปี 2540 รัฐบาลในช่วงเวลานั้น ได้ออกกฎหมายพิเศษ เพื่อกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยเหลือภาคการเงิน เป็นวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท และยังได้ขอกู้เงินจากญี่ปุ่นภายใต้โครงการมิยาซาวา วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท

 น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 เมษายนนี้ คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) 1 วัน เพียง 0.25% เนื่องจากการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่าไตรมาสแรกของปีจีดีพีติดลบมากกว่าไตรมาส 4 ของปี 2551 ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อไป

 ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25-0.50% โดยให้น้ำหนักกับ 0.50% มากกว่า โดยขณะนี้นโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อการดูแลเศรษฐกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ